ร้องสอบ บิ๊กสรรพสามิต เคลียร์คดีน้ำมันเถื่อน
วันที่ 8 มิ.ย. 2566 เวลา 16:25 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - อัจฉริยะ ร้องให้ตรวจสอบ ขบวนการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ โยง นาย ย. ข้าราชการระดับสูงกรมสรรพสามิต เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง อ้างตอนนี้รถของกลางหายไร้ร่องรอย ร้องสอบ บิ๊กสรรพสามิต เคลียร์คดีน้ำมันเถื่อน ยังคงเป็นประเด็นให้ต้องตามอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณี ตำรวจทางหลวง จับกุมรถบรรทุกขนน้ำมันเถื่อน พื้นที่ตำบลเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ระหว่างควบคุมตัวคนขับรถมีสายโทรศัพท์ปริศนา อ้างตัวเป็นข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพสามิต โทรศัพท์มาเจรจา ขอให้ไม่มีการจับกุมนั้น ล่าสุดวันนี้ (8 มิ.ย.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางไปที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อร้องเรียนให้ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยนายอัจฉริยะ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนเองได้รับหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้าราชการระดับสูง มีชื่อเล่นว่าย่อว่า "ย." ซึ่งเป็นหลักฐานคลิปเสียงสนทนาที่เป็นคนสนิทของข้าราชการคนดังกล่าว เบื้องต้นสาเหตุที่ต้องขอให้ช่วยเคลียร์คดีรถขนน้ำมันเถื่อน เพราะเป็นของ "เจ๊ บ." หญิงคนสนิทของ "ย." โดย "เจ๊ บ." คนนี้ ทำธุรกิจค้าน้ำมันเถื่อนอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ที่จะมีการส่งน้ำมันเหล่านี้ ไปขายต่อตามปั๊มน้ำมันขนาดเล็ก บริเวณโซนภาคกลาง เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสระบุรี ส่วนรถบรรทุกเป็นของเจ๊อีกคนที่เชื่อมโยงไปถึง "ย." โดยเจ๊ทำธุรกิจค้าของเถื่อนในโซนภาคใต้ ทั้งเหล้าเถื่อน บุหรี่เถื่อน และน้ำมันเถื่อน ซึ่งจะลักลอบขนมาขายไม่ต่ำกว่า 40,000 ลิตรต่อวัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 80,000 บาทต่อวัน ขณะที่รถบรรทุกคันของกลาง ตอนนี้ได้หายไปพร้อมน้ำมัน 40,000 ลิตรแล้ว ซึ่งตนกำลังประสานให้อธิบดีกรมสรรพสามิตติดตาม เพื่อเอาของกลางกลับมาให้ได้ แฉ ส่วยทางหลวง โยงถึงชั้นอัยการ ส่วนความคืบหน้ากรณีสติกเกอร์ส่วยทางหลวงนั้น วันนี้ (8 มิ.ย.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อมอบเอกสารหลักฐาน ของสมาพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ให้แก่ พล.ต.อ.วิษณุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ โดย นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า หลักฐานที่นำมามอบให้ ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานปลายทาง แต่ข้อมูลเชิงลึกทางตำรวจต้องเป็นฝ่ายขยายผลเอง ส่วนตัวคาดว่าจะมีการแก้ไขเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ และเรื่องการพิจารณาดำเนินคดีผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนจนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ขณะที่เรื่องการค้าสำนวนของพนักงานสอบสวนบางคน อย่างกรณีน้ำหนักบรรทุกเกิน หลายครั้งไม่ได้มีเจตนา แต่เนื่องด้วยกฎหมายที่มีโทษถึงขั้นยึดรถ ตรงนี้เป็นช่องโหว่ให้พนักงานสอบสวนบางคนมีการเรียกรับผลประโยชน์ แลกกับการไม่ดำเนินคดี รวมถึงยังพัวพันไปถึงอัยการบางคน หากปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิจารณาตามความเป็นธรรม ด้วยการปรับเงิน 3,000-5,000 บาท ทางอัยการเหล่านั้นอุทธรณ์ต่อ ทำให้รถคันนั้นถูกอายัดต่ออีก เป็นต้น