พานทองโบราณ ถูกขุดพบหลังวัดดัง จ.สุราษฏร์ธานี ปรับพื้นดิน เตรียมสร้างศาลามณฑปพระคู่เมือง

วันที่ 8 มิ.ย. 2566 เวลา 08:18 น.

พานทองโบราณ ถูกขุดพบ ขณะวัดดัง จ.สุราษฏร์ธานี ปรับพื้นดิน เตรียมสร้างศาลามณฑปพระคู่เมือง ด้าน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา ยืนยัน พานทองนี้ เป็นทองจริง มีลักษณะเป็นลายกลีบบัวซ้อนชั้น ซึ่งสันนิฐานว่าจากเนื้อทอง น่าจะเป็นยุค ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 52.89 g พานทองโบราณ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่บริเวณวัดโพธาราม (วัดเหนือ)หมู่ที่ 3 ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้มีการปรับพื้นที่หน้าดิน เพื่อที่จะสร้างศาลามณฑปพระพุทธรูปสองพี่น้อง  มีการนำรถแบ็กโฮมาขุดดิน ชึ่งในขณะขุดดินลึกประมาณ 1.5 เมตร  ได้พบกับ "พานทอง" ซึ่งเป็นวัตถุโบราณ ชาวบ้านทราบข่าวต่างมาชมความงามและถ่ายภาพลงโซเชียล  ขณะที่ นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา และนายกิตติ ชินเจริญธรรม หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา ได้เข้าร่วมตรวจสอบ พานทอง วัตถุโบราณดังกล่าว โดยมี พระครูอธิการสุภาส ถิระจิตโต  เจ้าอาวาสวัดโพธาราม นายวัชระ อินทรอักษร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 นายวรัญญู ชูศรี กรรมการวัด และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง รอต้อนรับเพื่อให้ตรวจสอบวัตถุโบราณชิ้นดังกล่าว เป็นพานทอง เป็นโลหะเนื้อทองมีลักษณะเป็นลายกลีบบัวซ้อนชั้น หน้าพานกว้าง 8.4 cm ความสูง 5.2 cm ฐานสูง 1.7 cm ฐานล่างกว้าง 5.3 cm คาดว่าน่าจะสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ ประมานเกือบ 200 ปี จากการสอบถามนายวรัญญู ชูศรี กรรมการวัด เล่าว่า เมื่อวานตอนประมาณ 15.00 น.ได้มีการปรับพื้นที่หน้าดิน เพื่อที่จะสร้างมณฑป ไว้เก็บพระพุทธรูปสองพี่น้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านศรัทธาคู่เมืองของชาวพุมเรียง ซึ่งก็ได้ให้รถแบ็กโฮมาช่วย ขุดปรับพื้นที่ ตอนนั้นขุดลึกไปประมาณ 1.5 เมตร ช่วงตอนที่แบ็กโฮขุด เอาดิน ขึ้นมา ก็ได้พบวัตถุชิ้นหนึ่ง และพวกเศษแก้วเศษถ้วย ที่แตกหัก ตนและกรรมการวัดทุกคน จึงได้ไปหยิบวัตถุโบราณมาทำความสะอาดดู เลยเห็นว่าเป็นพานทอง ที่น่าจะเป็นของสมัยโบราณ จึงได้เอาไปให้เจ้าอาวาสดู ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านเจ้าอาวาสก็เคย บอกให้ฟังว่า ท่านเคยบอกว่าถ้าขุดหรือปรับพื้นที่หน้าดินแห่งนี้ ถ้าจะมีวัตถุโบราณอะไร ที่จะให้พบให้เห็น ก็ขอให้ขึ้นมา เพื่อที่จะได้นำไปไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาร่องรอยอารยะธรรมประวัติศาสตร์ ทางด้านนายกิติ ชินเจริญธรรม หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา กล่าวว่า ลักษณะวัตถุโบราณดังกล่าวเป็นภาชนะ พานทอง มีลักษณะเป็นลายกลีบบัวซ้อนชั้น  ซึ่งสันนิฐานว่าจากเนื้อทอง น่าจะเป็นยุค ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์  น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 52.89 g (ชั่งจากร้านทอง) เป็นเนื้อทองจริง ก่อนหน้านี้ในบริเวณนี้ เคยขุดค้นพบเครื่องใช้โบราณ จำพวก ลูกปัดโบราณ หัวนโม เครื่องสังคโลก จึงวอนให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สมบัติครั้งก่อนประวัติศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป