ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ยิ่งเครียด ยิ่งอยากควักเงินออกจากกระเป๋า
วันที่ 7 มิ.ย. 2566 เวลา 22:33 น.
ประเด็นเด็ด 7 สี - งานวิจัยบางชิ้นบอกว่า ความเครียด กระตุ้นให้คนเราอยากควักเงินออกจากกระเป๋ามากขึ้น เป็นสาเหตุของการก่อหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เรื่องนี้จริงหรือไม่ คุณธัญนันท์ เหล่าบุรินทร์ มีข้อมูลมาฝากคุณผู้ชม ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ เคยสังเกตไหม เวลาที่เรารู้สึกเครียด หรือมีภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง จะคิดถึงการช็อปปิง รู้สึกอยากจะใช้จ่ายเลือกซื้ออะไรสักอย่างให้อารมณ์ดีขึ้น เป็นเพราะอะไรกัน แล้วยิ่งเครียดมาก ก็จะยิ่งกระตุ้นความอยากควักเงินออกมาใช้มากขึ้นจริงไหม จากข้อมูล ประชากรทั่วโลก มีประมาณ 5-8% เสพติดการช็อปปิง หากเทียบกับประชากรไทย คิดเป็นตัวเลขประมาณ 3.6-5.7 ล้านคน ที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เพราะความรู้สึกเครียด เหงา เศร้า ท้อแท้ หมดหวัง มักจะทำให้เรารู้สึกอึดอัด การได้ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งของ เหมือนได้ปลดปล่อยความรู้สึกพวกนั้นออกไป หรือคลายความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นให้ลดลง โดยงานวิจัยหลายชิ้น ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า การใช้จ่ายซื้อสินค้า สามารถช่วยให้ผู้คนมีความสุขขึ้นได้จริง เพราะเป็นกิจกรรมที่เบี่ยงเบนความสนใจให้เราลืมความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งสะท้อนว่า คนเรามีโอกาสใช้จ่ายเงินมากขึ้น เมื่อรู้สึกเครียด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเริ่มเสพติดการช็อปปิง สัญญาณที่บ่งบอก เช่น พอเครียดก็เริ่มซื้อของ, พอซื้อของเสร็จก็รู้สึกอิ่มใจ, แต่บางทีซื้อของแล้วกลับรู้สึกผิด, หรือซ่อนสิ่งของที่ซื้อมาไม่ให้คนใกล้ชิดรู้, แบบซื้อของมาแล้วไม่ได้ใช้จนลืมไปเลยว่าเคยซื้อมา, หรืออีกอาการ คือ เห็นป้ายลดราคาแล้วใจสั่น อยากจะซื้อทันที และอีกอย่าง คือ ใช้จ่ายเพลินจนเกินกำลังซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้ในที่สุด เพราะคนที่เสพติดการช็อปปิง มักจะวุ่นอยู่กับการค้นหาของชิ้นต่อไป จนเผลอใช้เงินจำนวนมากไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ล่าสุด ข้อมูลในไตรมาส 4 ปี 2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงมา เหลือ 86.9% แล้วก็จริง แต่เป็นเพราะ จีดีพี ไทย ขยายตัวขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยไม่ได้ลดลง โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ยังกังวลว่าหนี้ครัวเรือน จะเป็นปัญหาฉุดการใช้จ่ายของประชาชน และการเติบโตของเศรษฐกิจ การช็อปปิงไม่ได้ไม่ดี แค่ต้อง "รู้ให้ทัน" การใช้จ่ายของตัวเอง มิเช่นนั้น แทนที่ช็อปปิงแล้วจะหายเครียด กลายเป็นว่ายิ่งเครียดมากกว่าเดิม เพราะเงินไม่พอใช้ และอาจนำไปสู่วังวนการก่อหนี้อยู่ร่ำไป