อาเซียนเร่งผลักดันกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจดิจิทัล

วันที่ 7 มิ.ย. 2566 เวลา 12:13 น.

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนและการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และ แคนาดา ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ช่วงปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หนึ่งในประเด็นที่อาเซียนเร่งผลักดันคือ การศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เพื่อให้ผู้นำสามารถประกาศเริ่มต้นการเจรจาได้ในปีนี้ การศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้เสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้าในภูมิภาค ความตกลงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างกฎเกณฑ์ด้านการค้าทางดิจิทัลกับการดำเนินงานที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศในอาเซียนให้สามารถดำเนินธุรกรรมร่วมกันได้ภายใต้กฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศระบุว่าใน 2020 ภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าการค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่า ตลาดการค้าทางดิจิทัลในภูมิภาคจะมีมูลค่าเกิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ระบอบการค้าระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าทางดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น World Economic Forum สรุปการค้าทางดิจิทัล ประกอบด้วยมิติสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ “สินค้าและบริการทางดิจิทัล” เช่น ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน การบริการวิดีโอ และการวิเคราะห์ข้อมูล “สินค้าและบริการที่จับต้องได้และส่งถึงผู้ซื้อผ่านช่องทางดิจิทัล” เช่น การซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคออนไลน์ และการเดินทางออนไลน์ “สิ่งอำนวยความสะดวกทางดิจิทัล” สำหรับการค้าสินค้าที่จับต้องได้และการบริการธุรกรรมทางดิจิทัล ระบบติดตามสินค้า และความมั่นคงทางไซเบอร์ และ “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล” เช่น การพิมพ์ 3 มิติ Blockchain ปัญญาประดิษฐ์ และ IoTs “แนวโน้มการอำนวยความสะดวกด้านการค้าทางดิจิทัล” (Digital Trade Facilitation) ผ่านช่องทาง 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ (1) การระบุตัวตนทางดิจิทัล เช่น การยืนยันตัวตนลูกค้าที่ประกอบธุรกิจด้วย (Know-Your-Client: KYC) และการเปิดบัญชีสำหรับทำธุรกรรมระหว่างประเทศโดยยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล (2) ระบบจัดเก็บเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เอกสารในรูปแบบดิจิทัล ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อใช้เป็นใบแจ้งราคาสินค้าเรียกเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อให้ประหยัดเวลาและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ (3) เทคโนโลยีทางการเงินและการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน ทั้งกลุ่มธนาคารและธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่ภาคธนาคารร่วมมือและพัฒนานวัตกรรมในการชำระเงินให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นด้วย และ (4) การค้าที่ลดการใช้กระดาษ โดยมีแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับระบบ Single Window ของแต่ละประเทศ ประเทศไทยมี National Single Window และกลุ่มอาเซียนมี ASEAN Single Window ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนด้านเอกสารต่าง ๆ ทางศุลกากรของประเทศคู่ค้า “สิงคโปร์ คือผู้นำใน DEA” ช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 สิงคโปร์สามารถปรับตัว และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านเศรษฐกิจของประเทศเพื่อผลักดันบรรทัดฐานการค้าทางดิจิทัลผ่านการจัดทำ DEA กับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นการจัดทำความร่วมมือกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาในระดับที่คล้ายกันจึงทำให้การเจรจาบรรลุผลได้เร็วกว่าการหารือในกรอบพหุภาคี ประเทศไทยมีแนวนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ชัดเจนในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ขีดความสามารถด้านดิจิทัลในระดับโลกพบว่าประเทศไทยยังอยู่ในระดับกลาง เป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลชี้ให้เห็นว่าในภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีจุดแข็ง คือ การมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่สูง มีตลาดส่งออกสินค้าดิจิทัลที่แข็งแรง และมีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเงินที่แข็งแกร่ง สำหรับส่วนที่ต้องเร่งพัฒนาการคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจ และการปรับปรุงกฎหมาย  ตัวอย่าง กฎระเบียบไทยยังไม่มีพื้นที่สำหรับเทคโนโลยีที่คิดนอกกรอบกฎหมายเดิม  ทั้งการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่  หรือการทำธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้นแบบแบ่งปัน เป็นต้น สิ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาเรื่องทักษะดิจิทัลของประชาชน และแรงงานด้านดิจิทัลที่ยังอยู่ในระดับต่ำ IMD จัดอันดับทักษะความสามารถด้านดิจิทัลของคนไทยไว้ในอันดับที่ 50 จาก 63 ประเทศทั่วโลก ต้องยกระดับการปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ไปเป็นผู้สร้างมูลค่าในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดนวัตกรรมดิจิทัลและพัฒนาสินค้าบริการที่นำเข้าสู่ตลาดได้จริง ความเสี่ยงของการลงทุนสูง และปัญหาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สถานการณ์โควิดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยเร่งที่ผลักดันให้กลุ่มประเทศอาเซียนเร่งผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระเบียบโลกยุคใหม่