วาดลายผ้าบาติกโดยใช้แป้ง บอนลาโบะ กั้นสีแทนเทียนไข จ.สตูล
วันที่ 6 มิ.ย. 2566 เวลา 05:02 น.
เช้าข่าว 7 สี - การเขียนลายผ้าบาติก โดยทั่วไปจะใช้เทียนไขเขียนลาย เพื่อกั้นสีไม่ให้ล้ำเข้าไปในแต่ละส่วนของลวดลาย แต่ก็มีการคิดค้นนำแป้งจากหัวบอนมาใช้แทนเทียนไขเขียนลาย เป็นการใช้วัสดุธรรมชาติ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้แป้งจากหัวบอน มาเขียนลวดลายกั้นสีบนผ้าบาติก ถูกคิดค้นโดยคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชัน สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับ มทร.สงขลา และสำนักงานวิจัยแห่งชาติ และได้ถ่ายทอดให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชน ดาหลาปาเต๊ะ หมู่ที่ 2 ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ปาเต๊ะ จากอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสตูล เข้าอบรมนำวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากในจังหวัดสตูล จะมีต้น "บอนลาโบะ" ขึ้นอยู่ทั่วไป จึงมีการทดลองนำหัวบอนลาโบะ มาแปรรูปเป็นแป้ง นำแป้งที่ได้ไปผสมน้ำ ใช้เขียนลวดลายลงบนผ้าบาติก แล้วนำผ้าไปตากแดด ให้ลวดลายที่เขียนด้วยแป้งแห้งสนิท ก่อนจะนำผ้าไปลงสีบนลวดลาย คุณสมบัติของแป้งบอนจะไม่ยอมให้น้ำซึมผ่าน ใช้แทนเทียนไขเขียนลายได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญการใช้แป้งบอนแทนเทียนไข เป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อม เพราะการต้มน้ำล้างเทียนไขออกจากการทำผ้าบาติกแบบเดิม น้ำล้างเทียนไขจะอุดตันในท่อระบายน้ำ และทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการสอนให้ผู้เข้ารับการอบรม ทำผ้าย้อมสีแบบธรรมชาติที่ได้จากฝักสะตอ, ลูกเนียง, ครั่ง, คราม, ใบมังคุด และใบมะพูด การทำผ้านุ่มลื่น ผ้ากลิ่นหอมและผ้าสะท้อนน้ำ เป็นการสร้างมูลค่าบนผืนผ้า และต่อยอดผลิตภัณฑ์นำไปขายสร้างรายได้เป็นอย่างดี