พังงาช่วยชีวิตเต่าหญ้าเกยตื้น โดนเครื่องมือประมงรัดพายหน้าข้างขวาขาด
วันที่ 2 มิ.ย. 2566 เวลา 09:47 น.
พังงาช่วยชีวิตเต่าหญ้าเกยตื้น โดนเครื่องมือประมงรัดพายหน้าข้างขวาขาด บาดเจ็บสาหัส ข้อมูลชี้เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ เต่าหญ้าเกยตื้น เจ็บสาหัส วานนี้(1 มิถุนายน 2566) เมื่อเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติเขาลําปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน พบการเกยตื้นของเต่าหญ้า(Olive ridley turtle) จำนวน 1 ตัว (มีชีวิตในสภาพบาดเจ็บ) พิกัด E 0413665 N 0942360 บริเวณหาดท้ายเหมือง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลําปี-หาดท้ายเหมือง จึงประสาน เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ร่วมกันเข้าตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการวัดขนาด พบว่าความกว้างกระดอง 55 ซม. ความยาว 56 ซม. น้ำหนัก 15.4 กิโลกรัม ไม่สามารถระบุเพศ สภาพเต่าหญ้าที่พบพายหน้าด้านขวาขาดหายไป มีอาการอ่อนเพลีย อดอาหารและเสียเลือดมาก สาเหตุเบื้องต้นของการเกยตื้นเกิดจากการติดเครื่องมือประมงรัดพายด้านขวาจนเกิดแผลเน่าและขาด ได้ดำเนินการติดต่อให้สัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร เพื่อนำไปรักษาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้านเจ้าหน้าที่ ศวอบ.ได้ทำการวินิจฉัยทางรังสีเบื้องต้นเพื่อตรวจประเมินความเสียหายของใบพายที่บาดเจ็บพบว่ากระดูกของส่วนปลายแขนหักและกล้ามเนื้อโดยรอบใบพายอักเสบ รวมทั้งพบว่าปอดทั้งสองข้างพบการอักเสบรุนแรง ทั้งนี้จึงได้ทำการรักษาและพักฟื้นยังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศวอบ.ต่อไป ทั้งนี้ เต่าหญ้าในประเทศไทยมีประชากรลดลงมากเนื่องจากอาศัย หากินอยู่ใกล้ชายฝั่ง จึงมีโอกาสติดเครื่องมือประมงสูง การบาดเจ็บของเต่าหญ้า เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ยังมีเต่าหญ้าเป็นเต่าที่หากินริมฝั่งอยู่ แต่พบการขึ้นวางไข่น้อยมาก การได้ช่วยเต่าหญ้าบาดเจ็บมาเกยตื้นเนื่องจากติดเครื่องมือประมงมานานจนแผลเน่าเปื่อย ได้ผ่านความเจ็บปวดนานมากและคลื่นได้พัดพามาสู่ริมฝั่ง เต่าหญ้าตัวนี้คงไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติหรือปล่อยกลับคืนสู่ทะเล หากสถานการณ์ยังเป็นแบบเดิม ก็น่าเป็นห่วงต่อการลดลงของประชากรเต่าหญ้าในอนาคต โดยสถานภาพตอนนี้ กฎหมายจัดให้เต่าหญ้าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ขณะที่ IUCN (2011) จัดสถานภาพการอนุรักษ์เป็น สัตว์ที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 1