กองทัพเรือ ทดสอบศักยภาพเรือหลวงช้าง พร้อมช่วยผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเล

วันที่ 30 พ.ค. 2566 เวลา 08:52 น.

กองทัพเรือ ทดสอบศักยภาพเรือหลวงช้าง พร้อมช่วยผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเล เหนือขีดจำกัดของ เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงช้าง พร้อมช่วยผู้ประสบภัยทางทะเล วานนี้(29 พฤษภาคม 2566) เมื่อเวลา 13.00 น. พลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์  ผู้บัญชาการทหารเรือ เดินทางไปเรือหลวงช้าง  เพื่อตรวจเยี่ยมการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้าง  ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และหาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย การทดสอบขีดความสามารถการเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง ในการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และ การทดสอบขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และ จัดตั้ง รพ.สนามบนเรือ อีกทั้งการใช้ขีดความสามารถของครัวประจำเรือเพื่อเตรียมอาหารสำหรับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดภัยพิบัติในทะเล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจากสถิติที่ผ่านมา มักจะเกิดพายุในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและทางทะเลฝั่งอันดามัน อันอาจจะส่งผลกระทบทำให้เรือต่าง ๆ เกิดปัญหาอับปางในทะเล รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายทะเล ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เกาะต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาด (Isolate Area) ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจากทางบกไม่สามารถดำเนินการได้ จำเป็นต้องใช้การช่วยเหลือจากทางทะเล (From The Sea) เท่านั้น โดยการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้างในครั้งนี้ ได้บูรณาการกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง เรือระบายพลขนาดเล็ก LCVP จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง LCM จำนวน 2 ลำ และรถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) สำหรับเรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติยุทธการสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงอีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือกู้ภัยเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นภารกิจในการป้องกันประเทศ อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล และท่าเรือ ซึ่งเป็นภารกิจในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งจากคุณลักษณะของเรือ จัดเป็นเรือยกพลขึ้นบกอู่ลอย คือเป็นเรือที่มีอู่อยู่ภายในเรือ โดยคุณลักษณะนี้เองทำให้ เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกเรือระบายพล หรือเล็กประเภทต่าง ๆ ได้ ซึ่งแตกต่าง ๆ จากเรือยกพลขึ้นบกแบบเดิมที่ใช้งาน คือ เรือ LST หรือ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถบรรทุกได้แค่ยานพาหนะ หรือรถประเภทต่าง ๆ เท่านั้น นับเป็นเรือที่มีความทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในทะเล เนื่องจากสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ประเทศไทยที่มี 2 ฝั่งมหาสมุทร ได้แก่ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน มีพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 314,000 ตาราง กองทัพเรือได้กำหนดการสร้างความมั่นคงของชาติทางทะเล ตามแนวคิดระดับยุทธศาสตร์ว่า “ปฏิบัติการสองฝั่งมหาสมุทรและสามพื้นที่ปฏิบัติการ” หรือ “Two Oceans and Three Areas (OOAAA)” เรือหลวงช้างจะเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในทะเล เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ได้ทั้งสองฝั่งทะเล เรือหลวงช้าง มีกำลังพลประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 196 นาย โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้ ความยาวตลอดลำ 213 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 23,000 ตัน มีห้องพัก (Troops) กำลังพล และ/หรือ ผู้ประสบภัย รวมกัน ได้ 600 คน ซึ่งมากกว่าเรือหลวงอ่างทอง ที่บรรทุกได้ 360 คน และ หากต้องปฏิบัติการอพยพ ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ในดาดฟ้าบรรทุกรถ จัดพื้นที่รับผู้ประสบภัยได้เพิ่มเติมอีกกว่า 200 คน ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เพิ่มขึ้น แต่เรือหลวงช้าง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ไม่น้อยกว่า 800 คน ซึ่งรองรับจำนวน ได้มากกว่าเรือหลวงอ่างทอง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 23 นอต นั้นหมายถึงใน 1,500 ไมล์ของทะเลไทยนั้น ร.ล.ช้างจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยไกลสุดคือ 1,500 ไมล์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วันกว่า หรือ สัตหีบ - เกาะสมุย (200 ไมล์) ใช้เวลาเดินทางเพียง 8 ชั่วโมง และเรือหลวงช้างสามารถปฏิบัติการในทะเลได้ต่อเนื่องที่ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือที่ระยะทาง 8,000 ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต และที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย เรือหลวงช้าง มีความคงทนทะเลอยู่ที่ Sea State 9 คือ คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร แต่การปฏิบัติภารกิจในสภาวะ Sea State 9 ต้องพิจารณาความปลอดภัย ในการปฏิบัติการซึ่งมีข้อจำกัดของการปฏิบัติการของอากาศยาน และเรือเล็ก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ พายุแฮเรียต ในปี 2505  พายุโซนร้อนกำลังแรงลินดา ในปี 2540 (Sea State 9) พายุโซร้อนปลาบึก ในปี 2562 โดยพายุที่รุนแรงที่สุดได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 มี Sea State 9 คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 56 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 20 คัน เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกพร้อมอุปกรณ์ได้ถึง 650 นาย จะเห็นได้ว่า เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกรถยนต์ประเภทต่าง ๆ รวมทั้ง เรือระบายพล เรือเล็ก ซึ่งจากขีดความสามารถเหล่านี้ ทำให้พิจารณาการลำเลียงยานพาหนะที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้หลากหลาย ดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ รองรับเฮลิคอปเตอร์ที่ ทร. มีได้ทุกแบบ ขีดความสามารถทางการแพทย์ มีห้องปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 11 ห้อง เป็นห้องผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง (ห้อง X-ray ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB ห้องฆ่าเชื้อ และห้องผ่าตัด) ซึ่งสามารถรองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับ 2 บนเรือได้ เรือหลวงช้างมีความพร้อม ในการปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศ และสามารถออกเรือในการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยได้ทันทีทุกพื้นที่ เมื่อได้รับสั่งการ สามารถเข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการด้วยความรวดเร็ว และสามารถบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ