สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนราธิวาส และปัตตานี
วันที่ 25 พ.ค. 2566 เวลา 20:07 น.
เวลา 10.52 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านโคกไทร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ซึ่งเป็นศูนย์สาขาที่ 3 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 เพื่อจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกิน และเป็นพื้นที่สาธิตการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ในลักษณะหมู่บ้านตัวอย่างการพัฒนาอาชีพด้านการปศุสัตว์ พื้นที่นี้ เดิมเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง ดินเป็นกรดจัด และมีอินทรียวัตถุมาก ชุดดินที่พบ มีชุดดินเชียรใหญ่ และชุดดินกาบแดง โดยมีการปรับสภาพดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และกรมชลประทาน ช่วยก่อสร้างระบบคูส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คันกั้นน้ำ และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ สร้างถังเก็บน้ำพร้อมระบบประปา เพื่อกระจายน้ำสนับสนุนกิจกรรมปศุสัตว์ และการเกษตรในพื้นที่โครงการ โอกาสนี้ ประทับรถลากพ่วงพระที่นั่งไปทอดพระเนตรศูนย์สาธิตการเลี้ยงสัตว์ฯ แปลงเกษตร และที่อยู่อาศัยของสมาชิกฯ ปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินงาน 1,500 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสัตว์โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่แปลงหญ้า รวมกว่า 500 ไร่ มีแปลงหญ้าตัดสด และแปลงหญ้าแทะเล็ม ปัจจุบัน สามารถผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมือง เป็ดเทศ และเป็ดอี้เหลียงได้แล้ว ในอนาคตมีแผนทำโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และแปลงหญ้าเพิ่มเติม กับเพาะขยายพันธุ์โค มอบให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ส่วนพื้นที่จัดสรรที่ดินให้เกษตรกร เป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน 409 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิก 49 ครัวเรือน 129 คน ได้รับการจัดสรรที่ดินครัวเรือนละ 3-6 ไร่ รวมทั้ง มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ส่วนรวม 575 ไร่ สมาชิกส่วนใหญ่ปลูกไม้ยืนต้น พืชผักหมุนเวียน ไม้ผลผสมผสาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เลี้ยงปศุสัตว์ และทำประมง ปีที่ผ่านมา สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 213,000 บาท จากนั้น ทอดพระเนตรการทำเกษตรผสมผสานของเกษตรกรต้นแบบ นายแป แลดไธสง ชาวจังหวัดพะเยา ซึ่งย้ายมาอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ปี 2541 คิดทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว เมื่อปี 2542 บนพื้นที่ที่ได้รับจัดสรร 3 ไร่ ปัจจุบัน ทำเกษตรแบบผสมผสานประสบผลสำเร็จ เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสานใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ ปลูกพืชผักยกแคร่ ผักลอยฟ้า ไม้เลื้อย เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงวัว ไก่พันธุ์พื้นเมือง เป็ดไข่ เป็ดเทศ ผลผลิตพอบริโภคและจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างขึ้นเมื่อปี 2528 ปัจจุบัน มีนักเรียน 33 คน โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสแก่คณะผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งตลอด 40 ปี สามารถสนองพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้อย่างต่อเนื่อง เกิดการขยายผล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เวลา 14.37 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเมืองโบราณยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โบราณสถานสำคัญช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ในเขตลุ่มน้ำปัตตานี เริ่มมีการศึกษาพัฒนาการของเมืองตั้งแต่ปี 2449 ระยะแรกเป็นการศึกษาจากเอกสารของนักวิชาการต่างชาติและชาวไทย และกรมศิลปากรได้ดำเนินงานด้านโบราณคดี อย่างเป็นทางการในปี 2531 พบว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7.5 ตารางกิโลเมตร ภายในเมืองประกอบด้วย เนินโบราณสถานที่สำรวจพบแล้ว 33 แห่ง ป้อมมุมเมือง 4 แห่ง กำแพงเมือง 1 แห่ง ปรากฎคูน้ำ คันดิน และสระน้ำโบราณหลายแห่ง สามารถแบ่งพื้นที่เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด, กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ และกลุ่มโบราณสถานบ้านประแว ในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบัน กรมศิลปากร จัดทำโครงการศึกษาและขยายฐานความรู้เมืองโบราณยะรัง มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่ม ที่โบราณสถานบ้านจาเละ หมายเลข 1, 2, 8 และ 9 มีการศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ สำรวจเมืองโบราณยะรังด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ (Lidar) ศึกษาสภาพแวดล้อมและชายฝั่งทะเลโบราณ ตลอดจนจัดทำนิทรรศการและสื่อประกอบนำชม โดยได้ทอดพระเนตรกลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ บริเวณตอนกลางของเมืองโบราณยะรัง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มีคูเมือง 2 ด้าน สันนิษฐานว่า เป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมด้านศาสนา จากรูปแบบสถาปัตยกรรม มีโบราณสถานหมายเลข 1, 2, 3, 8, และ 9 อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีโบราณสถานหมายเลข 8 เป็นประธาน และโบราณสถานบ้านจาเละ หมายเลข 3 ที่กรมศิลปากร ขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และพบโบราณวัตถุ คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด แผ่นทองคำ รางน้ำทำจากหินทราย สถูปขนาดเล็ก และพระพิมพ์ มีการดำเนินงานด้านโบราณคดีแบบสหวิทยาการ โดยกรมศิลปากร ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีไลดาร์ สามารถตรวจสอบระบบการจัดการน้ำในพื้นที่เมืองโบราณยะรัง ลักษณะพื้นที่ในอดีต มีการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์วิเคราะห์โบราณวัตถุ ผลการศึกษาพบว่ามีความเชื่อมโยงกับอาณาจักรเขมรโบราณ จากนั้น ทอดพระเนตรโบราณสถานบ้านจาเละ หมายเลข 8 ที่กรมศิลปากรขุดค้น เมื่อปี 2535 เป็นอาคารก่อด้วยอิฐไม่สอปูน หันไปทางทิศตะวันตก อาคารหลัก มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนฐานเป็นฐานเขียงรองรับผนังซึ่งสร้างเลียนแบบอาคารไม้ ประดับเสาหลอกทั้ง 4 ด้าน ด้านบนของฐานปรากฎห้องอยู่ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ปรากฏทางเข้า ด้านนอกเป็นลานประทักษิณ และพบฐานเสาหินรูปวงกลม ตั้งอยู่มุมละ 1 ฐาน อาคารโถงด้านหน้าต่อเติมมาทางด้านหน้าของอาคารหลัก ด้านในสุดตรงที่เชื่อมต่อมีการก่ออิฐเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปวัวหินทราย และพบหม้อบรรจุกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นกระดูกพระที่มีความสำคัญในอดีต ส่วนโบราณสถานบ้านวัด หมายเลข 9 กรมศิลปากรขุดค้นทางโบราณคดี ระหว่างปี 2545-2546 และดำเนินการเพิ่มเติมในปี 2566 ก่อนการขุดค้นปรากฏหลุมที่เกิดจาการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ เมื่อขุดค้นทางโบราณคดีเสร็จสิ้น พบโบราณสถานสร้างด้วยอิฐ 1 หลัง พบโบราณวัตถุ เช่น ประติมากรรรมปูนปั้นรูปช้าง ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผา พวยกาดินเผา และลูกปัดแก้ว สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนา การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินงานทางโบราณคดี ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น