ส.ก.ลาดกระบังวอน กทม.เอาจริง เพิ่มโทษเจ้าของที่รกร้าง ต้นเหตุเพลิงไหม้หญ้า
วันที่ 25 พ.ค. 2566 เวลา 10:46 น.
ส.ก.ลาดกระบังวอน กทม.เอาจริง เพิ่มโทษเจ้าของที่รกร้าง ต้นเหตุเพลิงไหม้หญ้า หลังมือดีเผาต่อเนื่องแต่จับกุมเอาผิดไม่ได้ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงวิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง เปิดเผยถึงกรณีการเผาหญ้าและขยะ ในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยเฉพาะพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งยังคงพบต่อเนื่องทุกวัน วันละ 4-5 จุด ว่า ขณะนี้ยังคงได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับเหตุไฟไหม้ในพื้นที่ลาดกระบังอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงถึงแม้จะได้อภิปรายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โดยครั้งนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมประชุม รับทราบปัญหาและให้คำมั่นว่าจะเร่งแก้ไขแล้วก็ตาม ล่าสุดเหตุไฟไหม้ได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกิดอาการ HeatStroke เนื่องจากอุณหภูมิในสถานที่เกิดเหตุสูงมากประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้ต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร่งด่วน ถึงแม้ในขณะนี้เจ้าหน้าที่จะปลอดภัยแล้ว แต่เหตุการณ์ไฟไหม้ยังคงส่งผลต่อประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ คนตั้งครรภ์ ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ทั้งในเรื่องของควันพิษ ฝุ่นละออง ความเสี่ยงที่ทรัพย์สินจะได้รับความเสียหาย และความปลอดภัยของผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะสัญจรผ่านไป-มา "ถึงเวลาแล้วที่ กทม.จะต้องกวดขันให้เจ้าของที่ดินรกร้างต้องมีส่วนรับผิดชอบในความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงาน และต้องรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นกับประชาชนส่วนรวม ไม่แตกต่างจากผู้ที่ทำการเผา เนื่องจากหลายครั้งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้เผาขยะหรือเผาหญ้าได้ในที่เกิดเหตุ หรือจับได้แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือมีเบาะแสว่าผู้ที่กระทำเป็นเจ้าของที่ดินเอง เพื่อเป็นการป้องปรามปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงขอให้ กทม.ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ และบังคับใช้กับเจ้าของหรือผู้ที่ครอบครองที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างมีหญ้าหรือขยะในพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน โดยต้องทำการล้อมรั้วเพื่อป้องกันเหตุในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งต้องปรับสภาพพื้นที่ไม่ให้มีผู้ลักลอบนำขยะมาทิ้งและเผาขยะ ซึ่งการเพิ่มโทษทั้งจำและปรับสำหรับเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยปละละเลยไม่ดูแลพื้นที่ของตนเอง จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่ทำให้เกิดความเกรงกลัวในการกระทำผิด" นายสุรจิตต์ กล่าว นอกจากนี้ เกษตรกรที่ขาดความเข้าใจในผลเสียของการเผาในที่โล่งและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวม จะทำให้มาตรการการขอความร่วมมือและการรณรงค์ของภาครัฐไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การใช้กลไกทางกฎหมายเข้าควบคุมการเผา โดยพิจารณาจากพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ที่ทำการเผาทั้งที่ตั้งใจและจากความประมาทเกิดความเกรงกลัวและไม่กระทำผิดอีก