ชาวบ้านสุดทนกลิ่นขี้หมูโชย ทำปวดหัว เสียสุขภาพจิตต้องกินข้าวในห้องนอน

วันที่ 20 พ.ค. 2566 เวลา 10:18 น.
ชาวบ้านสุดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู 16 ฟาร์ม ทำลายระบบทางเดินหายใจ สุขภาพจิตเสื่อม ต้องกินข้าวในห้องนอน พร้อมล่ารายชื่อแจ้งตำรวจดำเนินคดี วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้าน นำโดยนายสมเพชร อายุ 61 ปี นายหนูเดือน อายุ 56 ปี และนายเดือน อายุ 59 ปี นำสมุดบัญชี ล่ารายชื่อชาวบ้าน เพื่อร่วมลงชื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีมีนายทุนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านทำฟาร์มเลี้ยงหมู แล้วเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงด้านมลพิษทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วย และบางคนเตรียมย้ายออกจากพื้นที่ ด้านนายเดือน บอกว่า มลพิษทางอากาศจากกลิ่นเหม็นมูลหมูเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2565 โดยมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงหมู โดยเลี้ยงในรูปแบบฟาร์มปิด มีการสร้างโรงเรือนใหญ่โต ช่วงแรก ๆ มีอยู่ไม่กี่ราย ก่อนที่ต่อมาได้ขยายเป็น 8 ราย จำนวน 16 ฟาร์ม โดยเลี้ยงรายละ 2 ฟาร์ม จำนวน 1,500 ตัว ฟาร์มเลี้ยงหมูแต่ละราย จะอยู่กระจายกันตามพื้นที่ใครมัน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2-5 กม. ขณะที่บางฟาร์มอยู่ให้กับอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านเพียง 200 เมตรเท่านั้น นายเดือนกล่าวอีกว่า ช่วงแรกที่หมูในฟาร์มยังตัวเล็กปัญหายังไม่เกิด แต่พอหมูโตขึ้น การให้อาหารเพิ่มมากขึ้น ปริมาณมูลหมูที่ขับถ่ายออกมาก็มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นเหม็นโชยออกมาจากฟาร์มหมูตลอดทั้งกลางวัน กลางคืน สำหรับบ้านตนอยู่ห่างจากฟาร์มหมูประมาณ 1 กม. จากที่เคยใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว ลูกเมีย นั่งพักผ่อนสบายๆ นั่งรับอากาศดีๆ หรือนั่งล้อมวงทานข้าวบนแคร่หน้าบ้าน ก็ทำไม้ได้ เวลาจะกินข้าวต้องยกสำรับไปกินในห้องนอนและปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด ก็พอที่จะบรรเทากลิ่นเหม็นลงได้บ้าง ไม่ต่างกับกินข้าวกลางคอกหมู จึงเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาลงพื้นที่ดูความทุกข์ยากของชาวบ้าน และเร่งรีบแก้ไขปัญหานี้ด้วย ด้านนางสมัย บอกว่าได้แจ้งปัญหากับผู้นำชุมชน ให้นายทุนเข้ามาแก้ไข แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตอนนี้ตนเองและเพื่อนบ้าน เริ่มมีอาการไม่ปกติทางร่างกาย เหนื่อยหอบง่าย หายใจไม่เต็มปอด ปวดศีรษะ บางครั้งรู้สึกท้อแท้ใจ หากไม่ได้รับการแก้ไข คงต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้ล่ารายชื่อไปแจ้งความไว้ สภ.สหัสขันธ์แล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลังจากที่เคยร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 1 ครั้ง และอบต.สหัสขันธ์ 1 ครั้ง เพื่อขอพึ่งหน่วยงานภาครัฐและกระบวนการยุติธรรม ในการพิจารณาโทษนายทุนและผู้เลี้ยงหมูตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และขอให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เข้ามาตรวจสภาพอากาศ สาธารณสุขเข้ามาดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม เข้ามาดูในส่วนของการให้ใบอนุญาต รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม