โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 66
วันที่ 3 พ.ค. 2566 เวลา 18:29 น.
เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ปีนี้อากาศร้อนจัด ค่าไฟฟ้าราคาสูงตามฤดู หลายครัวเรือนสนใจติดตั้งแผงโซลาร์มากขึ้น รวมทั้งถือเป็นอีกช่องทางในการช่วยลดโลกร้อนและเป็นพลังงานทางเลือก ปี 2566 กกพ. ประกาศโครงการโซลาร์ภาคประชาชน อนุมัติต่อโครงการโดย กกพ. กำหนดระยะเวลาโครงการ ปี 2564 - 2573 ขยายเพิ่มเป็น 90 MW. อัตรารับซื้อไฟเท่าเดิม คือ 2.2 บาท/หน่วย ต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้บ้านพักอาศัยสามารถติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา สามารถขายไฟให้กับการไฟฟ้าได้ในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย โดยกำหนดให้บ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟแบบ 1 เฟส ติดตั้งแผงโซลาร์ขายไฟได้สูงสุด 5 กิโลวัตต์ (kWp.) โดยดูจากขนาดรวมของแผงโซลาร์ บ้านพักอาศัยที่ใช้ไฟแบบ 3 เฟส ติดตั้งโซล่าเซลล์ขายไฟได้สูงสุด 10 กิโลวัตต์ (kWp.) โดยดูจากขนาดรวมของแผงโซลาร์ แผงโซลาร์ช่วยในการประหยัดค่าไฟ กระบวนการทำงานของแผงโซลาร์นั้นทำหน้าที่เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้า และทำการเก็บสำรองไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ จากนั้นจะมีการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าสลับ ทำให้คุณสามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ได้กับอุปกรณ์ภายในบ้านทั่วไปได้ เหมาะกับครัวเรือนที่ใช้ไฟปริมาณมากในช่วงกลางวัน แผงโซลาร์ในประเทศไทยมี 3 ประเภทหลัก คือ 1. แผง Monocrystalline Silicon Solar Cells ซึ่งมีคุณภาพสูง สามารถผลิตไฟได้ดีแม้ว่าแสงแดดจะน้อย และอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25-40 ปี แต่ราคาสูง 2. แผง Polycrystalline Silicon Solar Cells ราคาไม่สูง แต่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 13-16 และมีอายุการใช้งานเพียง 20-25 ปี และ 3. แผงโซลาร์ชนิดฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells) ราคาถูกที่สุด มีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ดี ทนต่ออากาศร้อนได้ดี แต่ผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุด อายุการใช้งานสั้น ประเด็นที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจติดตั้งแผงโซลาร์จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมของสถานที่ ความแข็งแรงของหลังคา ทิศในการติดตั้ง โดยเฉพาะการติดตั้งทางทิศใต้ เพราะจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะรับแสงแดดได้ปานกลาง รวมทั้งการตรวจสอบกำลังไฟเพื่อเลือกขนาดแผงโซลาร์ที่เหมาะสม และเลือกผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งพร้อมรับประกันและบริการหากมีปัญหา เพราะการติดตั้งแผงโซลาร์ต้องมีอุปกรณ์อื่น เช่น อินเวอร์เตอร์ โซลาร์ชาร์จเจอร์ แบตเตอรี่ สายไฟโซลาร์ อุปกรณ์จับยึดแผงโซลาร์ ต่างๆ หากแผงและอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพจะนำมาสู่ปัญหาเสียหายต่อโครงสร้างหลังคาและความไม่คุ้มค่า การขอติดตั้งสำหรับครัวเรือนหรือบุคคลต้องยื่นขออนุญาตเป็นไปตามข้อกำหนดของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จากข้อมูลการไฟฟ้านครหลวง ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเชื่อมต่อกับการไฟฟ้านครหลวงได้ 2 รูปแบบ ดังนี้ 1. การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนานกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้านอยู่อาศัย อาคาร หรือสถานประกอบการเป็นหลัก โดยไม่ขายไฟฟ้าให้ โดยการยื่นแบบคำขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง เพื่อให้พิจารณาตามระเบียบว่าด้วย ข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า การใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการปฏิบัติการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งประกาศใช้ ณ ปัจจุบัน 2. การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร และขายส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้านครหลวง โครงการโซลาร์ภาคประชาชน การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงที่ติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา โดยติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นหลักและขายส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้านครหลวง ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่กำหนด ประเด็นเรื่องราคาแผงโซลาร์และอุปกรณ์ติดตั้งค่อนข้างสูงเป็นหนึ่งในข้อจำกัดในการตัดสินใจของประชาชนในการติดตั้ง นอกจากนี้ ปริมาณในการผลิตไฟฟ้าต่อวันมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์ของแต่ละวัน หากต้องการใช้ไฟฟ้าสูงอาจจะต้องเพิ่มจำนวนของแผงโซลาร์ตามขนาดที่ต้องการใช้ไฟฟ้า และต้องมีการเก็บสะสมไว้ถึงจะมีไฟฟ้าใช้ในเวลากลางคืน ประเทศที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์มากที่สุดในโลก คือ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนีและอินเดีย ตามลำดับ ทั้งนี้ Solar Cells and Modules-Global Market Trajectory & Analytics ของ Global Industry Analysts Inc., (GIA) คาดการณ์ว่า ตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 127.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2026 สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2563 กำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน มีปริมาณรวม 12,005 เมกะวัตต์ (MW) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.3 โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 2,979.4 เมกะวัตต์ (MW) หรือคิดเป็นร้อยละ 24.88 ปี 2566 นี้คาดว่ามีจำนวนผู้ขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากขึ้น ที่น่าสนใจจำนวนโครงการบ้านจัดสรรในหลายพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มีมากขึ้น เน้นชูแนวคิดพลังงานสะอาด ช่วยประหยัดไฟและค่าส่วนกลาง แนวโน้มภาคประชาชนสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีเพิ่มขึ้นหวังเป็นพลังงานทางเลือกและช่วยลดค่าไฟในระยะยาว