การประปาจ่อขึ้นค่าน้ำตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 15-20%

วันที่ 24 เม.ย. 2566 เวลา 11:55 น.

การประปา 2 แห่งจ่อขึ้นค่าน้ำ เร่งศึกษาโครงสร้างคำน้ำใหม่ แจงละเอียดแบกภาระต้นทุนมากขึ้น 15-20% โดยเฉพาะค่าไฟที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก รอชงรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา วันนี้ (24 เม.ย.66) นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ยอมรับว่า กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างค่าน้ำประปาใหม่  หลังแบกภาระต้นทุน และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 15-20% โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ภาระต้นทุนในการผลิตน้ำประปา ประกอบด้วย 1.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐบาลเรียกเก็บที่ราชพัสดุ กปน.ต้องเสีย 150 ล้านต่อปี จากเดิมไม่ต้องเสีย 2.ค่าน้ำดิบจ่ายให้กับกรมชลประทานวันละ 3 ล้านบาท 3.ค่าไฟเพิ่มขึ้น 20-30% หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน จากค่าเอฟทีของรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นกว่า 90 สตางค์ 4.ค่าธรรมเนียมการวางท่อเป็น 100 ล้านบาทต่อปี “ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่อยากให้ขึ้นค่าน้ำ กปน.จึงต้องตรึงค่าน้ำไว้ ยอมแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเอง แต่ตอนนี้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาทุกด้านปรับขึ้นมาก แม้จะพยายามบริหารจัดการต้นทุนทุกด้าน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า แต่ก็ตรึงราคาต่อไปไม่ไหว” นายมานิตกล่าว สำหรับอัตราค่าน้ำปัจจุบัน กรณีที่พักอาศัยอยู่ที่ 8.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 11 บาทต่อลูกบาศก์เมตร  จึงต้องพิจารณาโครงสร้างค่าน้ำประปาใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น  หลังไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 23 ปี  เพื่อบริหารสภาพคล่องด้านการเงิน ยายการผลิตในโครงการ 9 รวมถึงการประสิทธิภาพและพัฒนาระบบน้ำประปา ทั้งนี้ เมื่อ 5-6 ปีก่อน กปน.เคยขอรัฐบาลขึ้นค่าน้ำ เช่น ที่พักอาศัยจาก 8.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 11-12 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ด้านนายมงคล วัลยะเสวี รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวเช่นเดียวกันว่า  กปภ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างค่าน้ำใหม่ ตามต้นทุนเพิ่มขึ้น 15-20% ทั้งจากค่าไฟ ค่าสารเคมี เพื่อขอขึ้นค่าน้ำ หลังไม่ได้ขึ้นมากว่า 10 ปี  คาดว่าอีก 2 เดือนจะแล้วเสร็จ จากนั้นเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาว่าจะให้ปรับขึ้นหรือไม่ หรือจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป การปรับขึ้นค่าน้ำเคยขอกับกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่ไม่ได้รับอนุมัติ และขอให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายแทน ทั้งนี้ จากภาระค่าไฟฟ้าสูงขึ้นและค่าเอฟทียังอยู่ในอัตราสูง ส่งผลต่อธุรกิจทุกภาคส่วน บางส่วนได้ปรับตัวรับสถานการณ์ พร้อมกับมีข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้แก้ไขระยะสั้น และปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำในอนาคต