เลือกตั้ง 2566 : จับตาการทำงาน กกต. หลังเจอดรามาไม่วินิจฉัยนโยบาย

วันที่ 13 เม.ย. 2566 เวลา 07:15 น.

สนามข่าว 7 สี - ขอบสนามเลือกตั้ง วันนี้ ยังอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะแค่เริ่มต้นก็เกิดความวุ่นวาย และมีดรามามาตลอด ทั้งเรื่องปล่อยให้หาเสียงไปเรื่อย ปัญหาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และล่าสุด ทริปดูงานต่างประเทศ จับตาการทำงาน กกต. หลังเจอดรามาไม่วินิจฉัยนโยบาย ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากประชาชนจับจ้องไปที่การหาเสียงของพรรคการเมืองแล้ว องค์กรหลักจัดการเลือกตั้งอย่าง กกต. ก็ถูกจับตามองไม่แพ้กัน เพราะถูกวิจารณ์หลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องบัตรเลือกตั้งที่ไม่แสดงโลโก้พรรค เรื่องการนับคะแนนที่ไม่แสดงผลแบบเรียลไทม์ เรื่องเว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ล่มให้ประชาชนเสี่ยงเสียสิทธิ หรือเรื่องควบคุมการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณ ถูกเรียกร้องให้คุมเข้มกันบ้าง จนสุดท้าย กกต. ต้องส่งหนังสือถึงทุกพรรคการเมืองส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในแต่ละนโยบาย ให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ต้องชี้แจงการใช้งบ 3 อย่าง คือ เอาเงินมาจากไหน คุ้มค่าแค่ไหน และจะส่งผลกระทบอย่างไร ท่ามกลางกระแสดรามาถาโถมเช่นนี้ ยังมีรายงานว่า ตอนนี้ กกต. ทั้ง 6 คน ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เพราะเดินทางไปดูการเตรียมการเลือกตั้งในหลายประเทศ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พอข่าวนี้ออกไปก็มีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมจมหูเลยทีเดียว เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็มี กกต. 2-3 คน เดินทางไปดูงาน ตอนนั้นก็ถูกวิจารณ์เหมือนกัน แต่นั่นแค่ 2-3 คน ครั้งนี้ไปกัน 6 คน และช่วงเวลาที่ไปยังเป็นช่วงการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แทนที่จะไปในช่วงการส่งบัตรเลือกตั้ง และกระจายบัตรไปยังผู้มีสิทธิในประเทศนั้น ๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า   มาดูกันหน่อยว่า กกต. 6 ท่าน ไปที่ไหนกันบ้าง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ไปแอฟริกาใต้, นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการ ไปเยอรมนี และ สวิตเซอร์แลนด์, นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไปฮังการีและสโลวาเกีย, นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการ ไปสหรัฐอเมริกา และ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ไปนิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย   ทั้งหมดจะทยอยเดินทางกลับมาวันที่ 14 เมษายน และมีนัดประชุม กกต. ครั้งต่อไปในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งเหลือเวลาอีก 19 วัน ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ส่วนการขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า หรือการวินิจฉัยนโยบายของพรรคการเมืองที่ออกมาหาเสียงคงทำได้ลำบาก เพราะไม่มีเวลาเพียงพอ นักวิชาการเคยเสนอตั้งศูนย์วิเคราะห์นโยบาย กกต. ปัดตก รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มองว่า กกต. ยังขาดศักยภาพในการวินิจฉัยนโยบายพรรคการเมือง ควรมีหน่วยงานอิสระดูแลส่วนนี้อย่างจริงจัง อย่างในต่างประเทศจะมีหน่วยงานย่อยที่ศึกษา วิเคราะห์ และสามารถวางแนวทางเป็นกรอบให้พรรคการเมืองทำตาม แต่ของไทยยังไม่มี เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566 ช่องทางโซเชียลมีเดีย Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews Twitter : www.twitter.com/Ch7HD IG : www.instagram.com/ch7hd_news TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd