องคมนตรี ไปตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 7 เม.ย. 2566 เวลา 20:10 น.
ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง และนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานคณะกรรมการฯ ไปตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 10 จังหวัด เขื่อนเป้าหมาย 5 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดบุรีรัมย์ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 10 จังหวัด เขื่อนเป้าหมาย 8 แห่ง มีการวางแผนเตรียมรับมือและรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และเริ่มมีการขอรับบริการฝนหลวง ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 พร้อมกับเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่ม และจะจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่นด้วย จากนั้น ไปติดตามการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งเมืองทอง ชุมชนบ้านตามา ก่อตั้งเมื่อปี 2551 โดยเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ มีการจัดอบรมหลักสูตรวิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเอง เพื่อนำความรู้ แนวคิดกลับมาพัฒนาพื้นที่ของตนตาม "แผนกู้ชาติด้วยยุทธศาสตร์กล้วย ๆ" หมายถึง นำการทำเกษตรประณีต, เกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยใช้ "กล้วย" เป็นตัวนำในการปลูกต้นไม้ที่จะคืนป่าให้แผ่นดิน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการดำเนินงาน อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ดำเนินโครงการวิจัยด้านการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการขุดคลองไส้ไก่รอบพื้นที่ ติดตั้งระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน มีประชาชนและหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบุรีรัมย์ นำโครงการจัดการพื้นที่ภัยแล้งด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน สนับสนุนโครงการจัดการดิน น้ำ ป่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญในการร่วมสร้างชุมชนให้มีความน่าอยู่ มีความอุดมสมบูรณ์ สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการฝนหลวง เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกสำหรับเกษตรกรในสภาวะแห้งแล้ง และเป็นต้นแบบที่เป็นรูปธรรมรองรับการขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์