เด็กไทยเผชิญ 'ความเสี่ยงสูง' จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่ 29 มี.ค. 2566 เวลา 20:22 น.

รายงานการศึกษาล่าสุดของยูนิเซฟ พบเด็กในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ กำลังเผชิญ “ความเสี่ยงสูง” จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานการศึกษาล่าสุดของยูนิเซฟ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุเด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กในจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส คือกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุด การศึกษา การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย เป็นรายงานฉบับแรกในประเทศไทยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กเป็นการเฉพาะ โดยจำแนกตามจังหวัด รายได้ ความพิการ และอายุ รายงานดังกล่าวยังนำเสนอดัชนีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศของเด็ก (Child-Sensitive Climate Risk Index) ซึ่งสะท้อนปัจจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ได้แก่  อากาศร้อนจัด ความหนาวเย็น น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งการมีสถานบริการสุขภาพและบริการสังคมในแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจในการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและชุมชน รายงานดังกล่าวระบุว่า ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในประเทศไทย คือ ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และอากาศร้อนจัด  ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ การแพร่กระจายของเชื้อโรค และความไม่มั่นคงทางอาหาร ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ พัฒนาการ และความเป็นอยู่ของเด็ก ซึ่งมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากพวกเขามีระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่อ่อนแอกว่า อีกทั้งยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นอยู่โดยรวม นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย กล่าวในงานแถลงผลการศึกษาชิ้นนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยยูนิเซฟ และกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า “ทุกวันนี้ เราเห็นผลกระทบของน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่นมลพิษ และสภาพอากาศร้อนจัดในประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก และกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ทำให้เด็ก ๆ เสี่ยงที่จะไม่สบาย ขาดเรียน หรือเข้าไม่ถึงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การขาดสารอาหาร ความเครียด และความตื่นตระหนก หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตได้ เราอาจพูดได้ว่าภาวะเหล่านี้กำลังพรากอนาคตของเด็ก ๆ ไป อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิทธิเด็ก แต่กลับยังไม่ได้รับความสนใจและการแก้ไขเท่าที่ควร”