ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อวัณโรค สายพันธุ์ปักกิ่ง ระบาดในเชียงราย แพร่ง่าย-ดื้อยา

วันที่ 24 มี.ค. 2566 เวลา 12:46 น.

ถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อวัณโรค ระบาดในเชียงราย เป็นสายพันธุ์ปักกิ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดสูง-ดื้อยา ผู้ป่วย 20-40% เคยต้องโทษจำคุก กรมวิทย์ฯ ตั้งเป้ายุติวัณโรคในไทย หยุดวัณโรค วันนี้ (24 มี.ค.66) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทย์ฯ ร่วมกับสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น ม.โตเกียว และศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล วิจัยพบเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) ซึ่งพบการระบาดในภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออก, ยุโรปตะวันออก, แอฟริกาใต้ และมีการกระจายหลายวงระบาดในภาคเหนือของประเทศไทย ทีมวิจัยได้มีการเก็บข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค  ตั้งแต่ปี 60-63 ใน จ.เชียงราย พบว่า เชื้อวัณโรคที่สามารถเพาะเชื้อขึ้น และสกัดสารพันธุกรรมมาตรวจหาสายพันธุ์ จำนวน 592 ตัวอย่าง สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคได้ 4 สายพันธุ์ คือ Lineage 1-4 โดยพบเป็นสายพันธุ์ Lineage 1 (สายพันธุ์อินเดีย) มากที่สุด คือ 45.8% ตามด้วยสายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) พบ 39.9% แต่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน (cluster analysis) จากข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค พบเป็นสายพันธุ์ Lineage 2 มากถึง 46.2% ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงและมักดื้อยา นอกจากนั้นยังพบการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ คือมีผู้ป่วยวัณโรค 10 คนขึ้นไป จำนวน 4 การระบาด โดย 20-40% ของผู้ป่วยมีประวัติเคยเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับการระบาดมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติเป็นผู้ต้องขัง ประมาณ 4 เท่า โดยบางรายมีอาการของวัณโรคหลังจากเคยต้องขังผ่านมาถึง 10 ปี   ปัจจุบันประเทศไทยค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและผู้สัมผัสวัณโรค เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษา วัณโรคและวัณโรคแฝง กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มผู้ต้องขัง ควรมีการตรวจคัดกรองวัณโรคและการตรวจวัณโรคแฝง ภายหลังจากออกจากเรือนจำ เพื่อตรวจค้นหาให้เร็ว ลดโอกาสการเสียชีวิตจากวัณโรค เกิดการควบคุมวัณโรคแบบครบวงจร เพื่อลดการแพร่เชื้อ