กล้าลองกล้าลุย : ลุยตามหาชันโรง ผึ้งจิ๋วประโยชน์มหาศาล ตอน 2
วันที่ 21 มี.ค. 2566 เวลา 07:14 น.
สนามข่าว 7 สี - วันนี้ยังอยู่ที่เรื่องของ ขี้อุง ขี้สูด และขี้ตั๋งนี หรือตัวชันโรง ต่อยอดจากน้ำผึ้งชันโรง มาที่ขี้ผึ้งของดี ตอนนี้ราคากิโลกรัมละเป็นพันบาท สุดท้ายกลายเป็นส่วนสำคัญของเครื่องดนตรีที่เกิดจากภูมิปัญญาของชันโรง เครื่องดนตรีที่ว่าคืออะไร ไปติดตามชมพร้อมกัน ในกล้าลองกล้าลุย วันนี้เรายังอยู่ที่เรื่องของ สุดยอดผึ้งจิ๋ว ที่รู้จักกันดีในชื่อ ชันโรง เมื่อวานนี้ แค่ขอเปิดดูรังด้านใน ก็เล่นเอาขนลุก โดนกัดกันถ้วนหน้าแล้ว ผึ้งชันโรง นอกจากจะช่วยผสมเกสร ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแล้ว น้ำผึ้งก็ยังขายได้ ราคาก็ถือว่าดีใช้ได้ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ สูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป นอกจากนี้ รังของชันโรงมีสารบางอย่าง ทั้งช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการอักเสบ ใช้สมานแผล จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ขี้ผึ้งเหนียวสีดำ ที่ได้จากรังชันโรง ยังต่อยอด เอาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีไทย วันนี้เราออกเดินทางต่อ จากจังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งหน้าไปที่จังหวัดนครพนม ที่นี่คือบ้านท่าเรือ ในตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม หมู่บ้านที่ยึดอาชีพทำเครื่องดนตรีไทยกันเกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะที่นี่ที่เราเคยมาเยือนก่อนหน้านี้ ศูนย์รวมเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน ของน้องบีท ทนุศักดิ์ บินศรี เครื่องดนตรี ที่ต้องใช้ขี้ผึ้งชันโรง คือแคน ไผ่ที่ใช้ทำแคน ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ไผ่แคน ตรงตัวเลย ความพิเศษของไผ่แคน คือลำต้นตั้งตรง ด้านในกลวง มีความหนาสม่ำเสมอกัน เดิมทีต้องนำเข้าจากสปป.ลาวเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ที่นี่ เริ่มเพาะปลูกได้สำเร็จ แต่ราคาก็ยังสูงอยู่นะ โดยความยาวประมาณ 4 เมตร จะขายกันที่ลำละ 5 บาท ไผ่แคนที่ตัดมา ต้องนำไปตากแดดให้แห้งก่อน ถึงจะนำไปใช้ได้ ขั้นตอนของการทำแคน ทุกวันนี้เหลือคนทำแทบจะนับคนได้เลย เพราะมันมีรายละเอียด ขั้นตอน ยิบย่อยเยอะมาก บางอย่างก็เป็นภูมิปัญญา ใช้เวลาเรียนรู้และศึกษากันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่ขอสรุปคร่าว ๆ เล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ ไม้ไผ่ต้องนำมาตัด ดัด ทะลวง และขัดให้เรียบ จากนั้นก็เตรียมทำลิ้นแคน พร้อมกับเทียบเสียง ให้ได้มาตรฐาน ขั้นตอนสำคัญคือการประกอบแคน และการทำเต้าแคน ต้องลองแล้วลองอีก โน้ตทุกตัว ต้องตรงเป๊ะ กว่าจะได้ขี้ผึ้งชันโรง เอามาทำแคนแบบนี้ ต้องล้างทำความสะอาด แล้วนำไปกวนด้วยความร้อนผสมกับชันจนละลาย กลายเป็นของสำคัญ ซึ่งทุกวันนี้คนทำขี้ผึ้งชันโรงขาย ก็เหลือไม่กี่คน สุดท้ายกว่าจะได้แคน เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพื่อส่งขาย ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย ปิดท้ายวันนี้ ด้วยเสียงแคนแดนอีสานเพราะ ๆ เห็นไหมว่าผึ้งจิ๋วที่ชื่อชันโรง มีประโยชน์มหาศาลจริง ๆ