กรมการแพทย์ เผยคนไทยป่วยและเสียชีวิต จากมะเร็งลำไส้ใหญ่-ไส้ตรง เฉลี่ยวันละ 15 ราย
วันที่ 18 มี.ค. 2566 เวลา 16:07 น.
กรมการแพทย์ เผยคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่-ไส้ตรง เฉลี่ยวันละ 15 ราย แนะเลี่ยงอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม กรมการแพทย์ เผยวันนี้ (18 มี.ค. 66) โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง โดยอ้างอิงจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่น่ากังวลคืออัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ วันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 ราย ปีละ 5,476 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 ราย ปีละ 15,939 ราย ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีสาเหตุการเกิดโรคที่หลากหลาย แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมูที่ผ่านการแปรรูป หรือปรุงด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานาน เช่น การปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และมีมันสูง การรับประทานอาหารกากใยน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ นอกจากนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงยังเกิดในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง คนที่เคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่แบบอะดีโนมา หรือทำการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ด้าน พญ.หทัยวรรณ ม่วงตาด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมมะเร็งระบบทางเดินอาหารและตับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดนี้ในช่วงอายุดังกล่าวจึงสามารถป้องกัน หรือช่วยให้ตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นได้มาก ปัจจุบันตรวจคัดกรองด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test: FIT) เป็นวิธีการตรวจที่สะดวก ง่าย และปลอดภัย