งานประเพณีปอยส่างลอง จ.แม่ฮ่องสอน

วันที่ 13 มี.ค. 2566 เวลา 05:01 น.

เช้าข่าว 7 สี - ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ทำให้ครอบครัวชาวไทใหญ่ ให้ลูกชายบวชเณร เพื่อสืบสานประเพณีปอยส่างลอง หรือบวชลูกแก้ว ที่วัดพระธาตุดอยกองมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทางวัดจัดให้มีประเพณีปอยส่างลอง หรือบวชลูกแก้ว ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ โดยในวันที่ 11 มีนาคม เป็นการปลงผมให้กับลูกแก้ว ที่จะเข้าร่วมพิธีปอยส่างลอง และเมื่อวานนี้เป็นวันรับส่างลอง แห่โค-หลู่ และเรียกขวัญส่างลอง และวันนี้จะเป็นพิธีบวช หรือบรรพชา เป็นสามเณร ซึ่งคำว่า ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทยใหญ่ "ปอย" แปลว่า งาน คำว่า "ส่าง" สันนิษฐานว่า เพี้ยนมาจาก "สาง" หรือ "ขุนสาง" หมายถึงพระพรหม อีกความหมายหนึ่งนั้นมาจาก "เจ้าส่าง" หมายถึงสามเณร และคำว่า "ลอง" มาจาก อลอง แปลว่า พระโพธิสัตว์ โดยปอยส่างลอง จึงหมายถึง งานบวชลูกแก้วหรือบวชเณรของชาวล้านนา นั่นเอง จะพบเห็นการจัดปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย ที่ประชากรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้ก็สืบเชื้อสายมาจากชาวไทใหญ่ ซึ่งประเพณีนี้จะมีการจับลูกแก้วแต่งกายด้วยชุดโบราณของชาวไทใหญ่ ที่เน้นสีสัน และประดับประดาด้วยเครื่องประดับ รวมทั้งมีการแต่งหน้าอย่างสวยงาม และจะมีพิธีแห่ลูกแก้วอย่างยิ่งใหญ่ โดยจะมีคนให้ขี่คอ เพราะส่างลองจะถือว่าเป็นเจ้าชาย ไม่สามารถสัมผัสกับพื้นโดยตรง จนกว่าจะบรรพชาเป็นสามเณร หากนั่งหรือยืนจะต้องมีเบาะ หรือผ้ารอง จะไปไหนจะต้องมี "ตะแป" หรือคนที่ส่างลองจะต้องขี่คอ สลับกัน 2-3 คน ที่สำคัญจะต้องมีคนดูแล 1 คนเสมอ เพราะชาวชาวไทใหญ่เชื่อว่า ภูตผีที่ชอบเครื่องทรงอันสวยงามจะมาชิงตัวส่างลองไปซ่อนไว้ ก่อนที่จะเข้าไปทำพิธีบรรพชาในวัด