ปรากฎการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม มีให้ชม 3 วัน ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี

วันที่ 1 มี.ค. 2566 เวลา 09:14 น.

ดาวเคราะห์ชุมนุม สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนดูดาว 1-3 มี.ค.นี้ ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี  หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึง 2 ทุ่ม ดวงดาวจะสว่างเด่น สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้อนรับเดือนมีนาคม วันนี้ (1 มี.ค.66) นอกจากจะเป็นวันดาวเสาร์ย้าย โหราศาสตร์แนะนำทำบุญรับดาวเสาร์ ขณะที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ชวนดูดาว ปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี ช่วงหัวค่ำระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค.66 ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม ทางทิศตะวันตก ผู้สนใจสามารถชมความสวยงามของวัตถุท้องฟ้าดังกล่าวได้ ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ดวงดาวจะสว่างเด่น สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วไทย สำหรับปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ในวันนี้ (1 มี.ค.66) ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่เหนือดาวศุกร์ ห่างประมาณ 0.8 องศา  จากนั้นในวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.66) ดาวศุกร์จะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 0.6 องศา และในวันที่ 3 มี.ค.66 ดาวศุกร์จะปรากฏอยู่เหนือดาวพฤหัสบดี ห่างกันประมาณ 1.4 องศา และค่อยๆ ทำมุมห่างออกจากกันมากขึ้นหลังจากนี้ ปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า ที่ระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี  ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์