BEM แจงประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มสุจริต ถูกต้อง

วันที่ 27 ก.พ. 2566 เวลา 06:21 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - BEM ออกโรง ร่วมโต้ ชูวิทย์ ยืนยันร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมาย มั่นใจข้อเสนอเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และรัฐสามารถทำสำเร็จได้จริง เล็งดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่ทำให้บริษัทเสียหาย ภายหลังจากที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเขย่าประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มระลอกใหม่ ทั้งในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ล่าสุด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกพาดพิงถึง ได้ออกแถลงการณ์ว่า บริษัทไม่ได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นการทุจริต หรือทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ตามที่มีการให้ข่าวพาดพิงถึงแต่อย่างใด และบริษัทจะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการให้ข่าวในลักษณะดังกล่าวต่อไป แถลงการณ์ดังกล่าว เป็นท่าทีจากอีกหนึ่งหน่วยงานที่ถูก นายชูวิทย์ พาดพิงถึง ซึ่งก่อนหน้านี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้ออกมาตอบโต้เช่นกันว่า การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มิได้เป็นไปตามที่ นายชูวิทย์ อ้างว่ามีการล็อกสเปก ส่วนที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งหากผลการตัดสินเป็นอย่างไร รฟม. ก็พร้อมน้อมรับคำตัดสินทุกประการ จึงขอให้ นายชูวิทย์ รวมทั้งสื่อมวลชน และประชาชนทุกฝ่าย เคารพกระบวนการยุติธรรม และไม่ดำเนินการที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดศาล อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเช้านี้ที่หมอชิต สัมภาษณ์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในประเด็นนี้ ซึ่งยังคงยืนยันว่า มีการล็อกสเปก ซึ่งเป็นนักวิ่งที่เก่งระดับโอลิมปิก และสิ่งที่ รฟม. กำลังปฏิเสธ สุภาษิตโบราณ เรียกว่า กินปูนร้อนท้อง ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน โดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ประชาชนกว่า 68,613 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ เมื่อปี 2563 มีการประกาศประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีเจ้าใหญ่ 2 เจ้า แข่งกัน คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM แต่ทาง รฟม. กลับยกเลิกการประมูลเสียดื้อ ๆ ต่อมา แม้ว่าศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าการล้มประมูลครั้งนั้น "มิชอบด้วยกฎหมาย" และกระบวนการยังต่อสู้คดีกันอยู่ในชั้นศาล แต่ รฟม. กลับยังดึงดันเปิดประมูลครั้งใหม่ จึงมีโอกาสสูงมากที่เรื่องนี้จะกลายเป็น "ค่าโง่" ในอนาคต นอกจากนี้ ในการเปิดประมูลสัมปทานสายสีส้มครั้งใหม่ ปี 2565 มีการกำหนดเกณฑ์การประมูลแบบใหม่ ที่กีดกัน BTS ไม่ให้เข้าประมูลได้อย่างเป็นระบบ ทำให้การประมูลปี 2565 เปลี่ยนจากการประมูลเป็น "การประเคน" เหลือแค่ BEM เข้าวินรับผลประโยชน์เต็มจำนวนแบบสวย ๆ ซึ่งทาง BTS แก้เกม ด้วยการเก็บเอกสารสำคัญไว้ คือ ซองข้อเสนอของ BTS ในการประมูลรอบแรก ปี 2563 เอาไว้ ที่ทำให้เห็นว่า ตามข้อเสนอของ BTS ในปี 2563 รัฐบาลต้องอุดหนุนเงินเพิ่มเพียง 9,675 ล้านบาทเท่านั้น เพราะ BTS ประมูลจ่ายผลตอบแทนให้รัฐถึง 70,145 ล้านบาท ขณะที่ข้อเสนอล่าสุดของการประมูลปี 2565 รัฐต้องอุดหนุน BEM มากถึง 78,288 ล้านบาท พูดง่าย ๆ ก็คือ BTS เสนอถูกกว่า BEM แล้วทำไม BEM ถึงได้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม