หมดเวลา การศึกษาไทยยุคท่องจำ
วันที่ 26 ก.พ. 2566 เวลา 05:05 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - นักวิชาการด้านการศึกษา เผยการศึกษาไทยล้าหลัง ไม่เหมาะสมผู้เรียน ยังคงเน้นท่องจำเป็นหลัก นำไปใช้ได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กศส. กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของไทย ล้าหลังเป็นอย่างมาก ไม่สอดคล้องกลับผู้เรียนยุคใหม่ โดยเนื้อหาการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 หรือ 24 ปีแล้ว ครูส่วนใหญ่เน้นการบรรยายในห้องเรียน มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ส่วนที่เหลือ เป็นการท่องจำ นำไปสอบ กลายเป็นการสอนแบบยัดเยียด ไม่เหมาะกับเด็กยุคใหม่ ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงความคิดเห็น ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า แม้จะเป็นหลักสูตรเดิม แต่ครูผู้สอน ต้องประยุกต์การสอนให้น่าสนใจ ใช้สื่อการสอนมาเป็นตัวช่วย ให้ผู้เรียนเกิดการคิด วิเคราะห์ด้วยตนเอง ล่าสุดหลายสถาบันการศึกษาในไทยปรับตัว โดยสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ จัดการเรียนการสอนร่วมกัน ในรูปแบบ Active Learning มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรมการศึกษาจากความสนใจของผู้เรียน โดยมีผู้ปกครอง ครู และชุมชน ช่วยกันสนับสนุน ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในและนอกสถานที่ ปัจจุบันต้องยอมรับว่า การเรียนของเด็กยุคใหม่ หมดเวลาการสอนแบบท่องจำแล้ว ดังนั้น ในปีการศึกษา 2566 ที่กำลังจะเปิดภาคเรียน ทุกโรงเรียนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นไปที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้เด็กได้ คิด วิเคราะห์ และแสดงความเห็น เพื่อให้การศึกษาไทยได้พัฒนา ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนระดับชั้นอนุบาล ที่ต้องปรับมาใช้ รูปแบบ Active learning ที่ส่งเสริมให้ครูได้ผลิตสื่อการสอนเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ใช่เพียงฟังจากทฤษฎี เพื่อทำให้เด็กไทย เป็นคนเก่ง คนเด่น มีความคิดเป็นเลิศ เรียนรู้เร็วแบบก้าวกระโดด ให้เด็กเล็ก เรียนรู้กระบวนการคิดขั้นสูง ปัจจุบันมีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 82 แห่ง เป็นโรงเรียนแข่งขันสูงของจังหวัด มีผู้ปกครองสนใจ ส่งลูกหลานเข้าเรียนจำนวนมาก ดังนั้นคุณภาพทุกด้านของโรงเรียน ต้องมีความพร้อมที่จะรองรับ