นักวิชาการด้านยานยนต์ ชี้! “พวงมาลัยล็อก” ขณะขับรถ โอกาสเกิดขึ้นยากมาก แต่ก็เกิดขึ้นได้ จาก 3 ปัจจัยไม่คาดคิด แต่ต้องตรวจละเอียดทั้งรถและคนขับ

วันที่ 23 ก.พ. 2566 เวลา 11:31 น.

นักวิชาการด้านยานยนต์ ชี้! “พวงมาลัยล็อก” ขณะขับรถ โอกาสเกิดขึ้นยากมาก  แต่ก็เกิดขึ้นได้  มีอย่างน้อย 3 ปัจจัย ไม่คาดคิด  อย่างไรก็ตามต้องตรวจสอบหาสาเหตุอย่างละเอียด  ทั้งรถ และคนขับ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กรณีข่าวเศร้า อุบัติเหตุรถกระบะเสียหลัก พุ่งชนขอบทางด่วน จนทำให้ลูก 6 ขวบที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยนั่งอยู่เบาะหลัง กระเด็นตกทางด่วนเสียชีวิต หลังเกิดเหตุคนขับ อ้างว่า “พวงมาลัยล็อก” ทั้งที่เป็นรถกระบะใหม่ป้ายแดง  ทำให้เป็นที่กังวลของผู้ขับขี่รถโดยทั่วไป และถกเถียงกันว่า โอกาสที่พวงมาลัยจะล็อก ขณะขับรถ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนัก เพิ่มความระวัง เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตนั้น  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.จินดา เจริญพรพาณิชย์ หน.ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยียานยนต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า โอกาสการเกิด”พวงมาลัยล็อก” ขณะขับขี่รถเป็นไปได้ยากมาก  ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข่าวลักษณะนี้มาก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้    หากพิจารณาจากโครงสร้างของการขับเคลื่อน “พวงมาลัย”จะเชื่อมต่อกับตัวคอลัม หรือแกนพวงมาลัย ต่อกับชุดแร็กพวงมาลัยซึ่งเป็นฟันเฟือง แล้วจะต่อไปที่ชุดล้อ จากพวงมาลัยไปถึงล้อ มันจะมีหลายจุด ถ้าจะเกิดปัญหา อย่างน้อย 3 ปัจจัย 1. ถ้าพวงมาลัยล็อก หรือขัดจริงๆ แบบหมุนไม่ได้เลย คือต้องมีอะไรเข้าไปขัด ตามชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ทำการหมุนในระบบขับเลี้ยว ทำให้เวลาหมุนแล้วมัน”ล็อก” ติดขยับไม่ได้ ซึ่งอันนี้ต้องไปตรวจดู แต่กรณีนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น  2. พวงมาลัยไม่ถึงกับล็อก แต่หนัก ซึ่งพวงมาลัยสมัยก่อนจะหนัก ต้องใช้แรงมาก แต่ปัจจุบันเป็นพวงมาลัยพาวเวอร์แล้ว ส่วนใหญ่เป็นไฮดรอลิก คือจะมีปั๊มพวงมาลัยพาวเวอร์สร้างแรงดัน ทำให้พวงมาลัยเบาหมุนได้ง่าย เลี้ยวง่าย สมมุติว่ามีข้อผิดพลาดจากพวงมาลัยพาวเวอร์ ปั๊มรั่ว พวงมาลัยจะหนักขึ้น แต่กรณีนี้ก็ยังเป็นไปได้ยาก เพราะพวงมาลัยหนักก็ยังพอเลี้ยวได้ ยิ่งเวลาขับที่มีความเร็วจะใช้แรงในการหมุนพวงมาลัยไม่มาก พวงมาลัยไม่หนักเหมือนเวลาจอดรถ 3. พวงมาลัยหักเลี้ยวได้ แต่ล้อไม่เลี้ยวตาม ชิ้นส่วนในเฟืองแร็ก ที่เชื่อมต่อพวงมาลัยไปที่ล้อ คอม้า ข้อต่อหลายตัว หากอุปกรณ์เหล่านี้ ชำรุดเสียหาย หลุดออกจากัน ก็เป็นไปได้ที่ทำให้หักเลี้ยวไม่ได้ หากขับไปตรงๆ  จู่ๆพวงมาลัยล็อกแล้วหักเข้าไปชน  ก็ยังฟันธงไม่ได้ ต้องตรวจพิสูจน์ละเอียดไล่ตั้งแต่พวงมาลัยไปถึงชุดล้อ ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ทำงานตามปกติหรือไม่ หากไม่พบการชำรุด โอกาสก็เป็นไปได้ยาก  อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนขับด้วย เพราะกรณีนี้ เป็นไปได้ทั้งอุปกรณ์ชำรุด หรือผิดพลาดที่คนขับเอง ผศ.ดร.จินดา เจริญพรพาณิชย์  ยังเผยด้วยว่า หลังจากได้ดูคลิปหน้ารถแล้ว ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม เช่น ขับมาในทางตรง คนขับมีการหักพวงมาลัยไปทางซ้ายหรือไม่ ถ้ามีการหักไปซ้าย เพราะเหตุอะไร ถ้าฟังเสียงในคลิป เสียงเพลงจากเครื่องเล่นดับไป ก่อนที่รถจะเสียหลัก มีอะไรเกิดขึ้นในรถ ในช่วงเวลานั้น ในขณะที่รถเซ คนขับไม่ได้เหยียบเบรก ชะลอรถเพราะเหตุใด สุดท้ายแล้ว คงต้องมีการตรวจสอบ ระบบขับเลี้ยวทั้งหมดว่ามีชิ้นส่วนใดผิดปกติหรือไม่ จึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุใด