คอลัมน์หมายเลข 7 : ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี งบฯ 27 ล้านบาท ถูกทิ้งร้าง

วันที่ 15 ก.พ. 2566 เวลา 20:14 น.

ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ลงพื้นที่ไปที่ ศูนย์เรียนรู้ฯ แลนด์มาร์กสำคัญอีกแห่งของจังหวัดปัตตานี ที่สร้างด้วยงบประมาณมากกว่า 27 ล้านบาท เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา แต่กลับถูกทิ้งร้างมานานเกือบ 10 ปี ติดตามกับคุณเตชะวัฒน์ สุขรักษ์ เสียงชาวบ้านจังหวัดปัตตานี ที่นำนักเรียนไปทัศนศึกษามัสยิดกรือเซะ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานชื่อดัง ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พูดถึงอาคารทรงปั้นหยา ยกพื้นสูง 2 ชั้น ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี ที่อยู่หลังมัสยิดกรือเซะ แต่ถูกปิดทิ้งร้างมานานหลายปี รวมทั้งปืนใหญ่พญาตานีจำลอง ขนาดเท่าของจริง ที่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ก็เหลือเพียงฐานให้ชมต่างหน้ามานานกว่า 9 ปี หลังถูกลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 เมื่อนักท่องเที่ยวหรือนักเรียนมาเที่ยวชม ทัศนศึกษา ก็ทำได้เพียงอ่านป้ายประวัติและชมฐานปืนใหญ่เท่านั้น ส่วนตัวศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี เมื่อมองบนหลังคา กระเบื้องบางแผ่นหลุดแตกร่อน เมื่อเข้าไปภายในบริเวณ เห็นได้ชัดถึงสภาพที่ถูกทิ้งมาหลายปี โดยเฉพาะภายนอก ทั้งน้ำตกจำลอง สวนหย่อม อาคารด้านหลัง ที่มีคราบน้ำบาดาล ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ แบ่งเป็น 4 ห้อง ประกอบด้วย ห้องบรรยายสรุป ห้องชุมชนท่องเที่ยวปัตตานี บอกเล่าความเป็นมาของจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น อาณาจักรลังกาสุกะ สู่ยุค 7 หัวเมืองสำคัญ และยุคปัจจุบัน รวมทั้งบอกเล่าอาชีพ วิถีชีวิตชาวปัตตานี ทั้งการทำประมงพื้นบ้าน และเกษตรกรรม ห้องนี้พบจอวีดิทัศน์ที่ยังใช้การได้มากกว่า 10 ตัว เช่นเดียวกับ ห้องพหุวัฒนธรรม มีหุ่นจำลอง บอกเล่าวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหารการกินของชาวพุทธ ชาวมุสลิม และชาวจีน สภาพยังสวยงาม พร้อมจอวีดิทัศน์ประจำห้อง ที่ยังไม่แกะพลาสติกห่อหุ้ม ส่วนห้องอารยธรรมปัตตานี บนชั้น 2 มีรูปปั้นสวมใส่ชุดพื้นเมือง และภาพเขียนสีน้ำมัน บอกเล่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาตั้งรกรากในอาณาจักรลังกาสุกะ รวมทั้งภาพรายา หรือ พระมหากษัตริย์สตรีแห่งราชวงศ์ศรีวังสา ที่ปกครองอาณาจักรปัตตานี โดยศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ อยู่ในการดูแลของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดปัตตานี กระทั่งนาย อีลียะห์ ลาเตะ นายก อบต.ตันหยงลุโละ รับตำแหน่งสมัยแรก ก็พยายามผลักดันให้เปิดศูนย์เรียนรู้อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ควบคู่กับมัสยิดกรือเซะ ให้ประชาชนมีรายได้จากการค้าขาย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนจุดเริ่มของปัญหาการทิ้งร้าง และแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ขณะนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี สั่งการแล้ว จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในตอนต่อไป