ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : VAT 10% อัตราภาษีจริงที่คนไทยต้องจ่าย

วันที่ 14 ก.พ. 2566 เวลา 22:34 น.

ประเด็นเด็ด 7 สี - เมื่อพูดถึงเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งส่วนใหญ่จะบวกมากับราคาสินค้า เป็นภาษีที่เราต้องจ่ายกันถ้วนหน้า ในอัตรา 7% ของมูลค่าสินค้า 100 บาท ก่อนหน้านี้ เหมือนว่าจะความพยายามขยับขึ้นภาษี VAT เป็น 10% แต่ก็ยังเป็นความพยายาม กระทั่งวันนี้ นักวิชาการ มองว่า อาจจะถึงเวลาที่ต้องขยับภาษีแล้ว ติดตามในประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ ประเทศไทยเราเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% มายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว ที่ผ่านมาหลาย ๆ รัฐบาล ก็ยังไม่มีใครกล้าขยับขึ้นภาษีตัวนี้เป็น 10% เพราะเกรงว่าจะกระทบทุกคนแบบถ้วนหน้า หรืออาจจะกระทบฐานเสียงรัฐบาลเองด้วย แต่วันนี้นักวิชากามองกันว่า น่าจะมีการทบทวนอัตราภาษี VAT แล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือ VAT 7% มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันทุก ๆ ปี และกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน แต่ที่มาที่ไปของ VAT 7% นั้นคืออะไร แล้วถ้าหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาเรียกเก็บภาษีนี้ในอัตราเท่าไหร่ ประโยชน์ของการจ่าย VAT มีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร เดี๋ยวเราไปดูกัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax (VAT) คือภาษีทางอ้อม ที่ผู้ประกอบการ จะเรียกเก็บจากผู้บริโภคโดยบวกลงไปในราคาของสินค้า และจะนำภาษีนั้น ส่งให้กรมสรรพากร เพื่อนำเงินเข้าสู่คลังของประเทศ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วประเทศไทยจะต้องเรียกเก็บ VAT ในอัตรา 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่เมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา ลดอัตราภาษี VAT และจะมีการพิจารณาในทุก ๆ 2 ปี ให้เหลือที่ 7% ก็เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในช่วงที่ขณะนั้นประเทศไทยต้องเผชิญ วิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง แต่หลังจากนั้น เรากลับเห็น VAT 7% มาโดยตลอด ปัญหาคือคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่า การชำระภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมือง แต่กลับมองเป็นภาระ แม้ว่าเงินภาษีจะถูกจัดเก็บไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสวัสดิการต่าง ๆ ที่ภาครัฐหยิบยื่น ดูเหมือนจะสวนทางกับความต้องการที่คนส่วนใหญ่ต่างเรียกหา สวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี คราวนี้มาดูประเทศพัฒนาแล้ว เขาเรียกเก็บภาษี VAT เท่าไหร่กันบ้าง อย่างที่ญี่ปุ่น จะเก็บภาษี VAT กันที่ 8%, เกาหลีใต้เก็บ 10%, จีน เก็บ VAT สูงถึง 17% ข้ามมาที่ นอร์เวย์ เก็บสูงถึง 25%, ถ้าเฉลี่ยทั้งโลก จะจัดเก็บที่ 15.5% คราวนี้มาเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะเห็นว่า ประเทศไทย มีการเก็บ VAT น้อยที่สุด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยว่า จะรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมด คราวนี้มันถึงเวลาหรือยังที่จะขยับ VAT เป็น 10% นักวิชาการ เขาเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อเป็นการลดภาระทางการคลัง ทำให้ภาคการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เร็วขึ้น โดยสนับสนุนให้ปรับเพิ่ม VAT เป็น 10% ขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการภาษีทั่วโลก โดยรัฐควรระบุให้ชัดเจนว่า 3% ที่เก็บเพิ่มจะนำไปทำประโยชน์อะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลควรเข้มงวดการจัดเก็บภาษีธุรกิจนอกระบบ และภาษีที่ดิน ทั้งดำเนินการเก็บภาษีย้อนหลัง และจริงจังต่อการเอาผิดผู้ที่จงใจเลี่ยงภาษี เพื่อเป็นการสะท้อนความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐด้วย