ขยายประเด็นดัง : ย้อนรอย อุทาหรณ์หนุ่มทำงานหนัก ตายคาโต๊ะ

วันที่ 11 ก.พ. 2566 เวลา 12:04 น.

ข่าวเด็ด 7 สี - ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวช็อกเกี่ยวกับพี่น้องในวงการของผม ที่ใครจะคาดว่า การทำงานหนักจะคร่าชีวิตเราได้จริง ๆ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามกับคุณปราโมทย์ คำมา ในขยายประเด็นดัง ประเด็นดังในรอบสัปดาห์นี้ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงข่าวที่หนุ่มใหญ่วงการทีวี ทำงานจนเสียชีวิตคาโต๊ะ และมีดรามาตามมาว่าทำงานหนักไม่ได้พัก แม้กระทั่งลาป่วยอยู่ หัวหน้าก็เรียกให้กลับมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครแทนได้ จนกระทั่งเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน จากอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงที่ทางต้นสังกัดก็ออกมาชี้แจง และนอกเหนือจากนี้ผมยังไปหาข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของคนไทยมาด้วย มาขยายประเด็นนี้ไปด้วยกัน เริ่มที่วันจันทร์ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเรื่องดรามาในโซเชียล เมื่อเพจหนึ่งออกมาโพสต์เรื่องราวของชายอายุ 44 ปี ที่เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน มีเนื้อหาระบุว่า ที่เสียชีวิตเพราะทำงานหนัก งานหนักไม่เคยฆ่าใคร แต่ได้ฆ่าชายคนนี้แล้ว ซึ่งท้ายที่สุดโพสต์นี้ได้ลบออกออกไปเนื่องจากเพจเกรงว่าจะถูกฟ้องร้อง เรื่องนี้ก็ร้อนไปถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีการสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนว่าทางบริษัทมีการละเมิดสิทธิพนักงาน มีการเอาเปรียบพนักงาน อย่างที่มีกระแสข่าวหรือไม่ ซึ่งต่อมาทางบริษัทก็มีการออกประกาศชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงค่อนข้างจะไม่ตรงตามที่มีข้อมูลเผยแพร่ออกไป เช่นกรณีการมีพนักงานในตำแหน่งนี้คนเดียว และรับผิดชอบงานถึงสองจ๊อบนั้น แท้จริงแล้วตำแหน่งนี้มีพนักงานทั้งหมด 5 คน สามารถหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันในวันที่คนขาดได้ ส่วนที่บอกว่าหัวหน้าโทรตามให้มาทำงานในวันที่ลาหยุด ก็ไม่เป็นความจริง เพราะวันที่พนักงานคนดังกล่าวเสียชีวิต เป็นวันที่พนักงานมาทำงานตามปกติ และไม่ได้แจ้งหัวหน้างานว่าป่วย และสุดท้ายบริษัทช่วยเยียวยาทางครอบครัวโดยการจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน 24 เดือน เป็นเจ้าภาพงานศพ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่พนักงานต้องได้รับตามกฎหมาย ในสัปดาห์เดียวกัน จากพนักงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ พาคุณผู้ชมไปที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวนางเอกลิเก มีอาการแน่นหน้าอก และวูบกลางเวที ขณะกำลังทำการแสดง ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าที่เกิดเหตุการณ์นั้น เพราะว่าในหนึ่งวันมีเวลานอนเพียง 3-4 ชั่วโมง ส่วนการทำงานนอกจากต้องร้องลิเกตั้งแต่ 21.00 น. จนสว่างแล้ว ช่วงกลางวันยังต้องไลฟ์สดขายของออนไลน์ เลี้ยงลูกเล็ก และดูแลพ่อสามีที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ จึงเกิดอาการวูบกลางเวที แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อธิบายว่า การทำงานหนักแบ่งออกเป็น 2 อย่าง อย่างแรกคือการใช้ร่างกายทำงานหนัก เช่น ทำงานล่วงเวลาไม่ได้พักเลย ไม่มีวันหยุด หรือ พักผ่อนน้อย เวลานอนน้อย อันนี้ก็เป็นการทำงานหนักอย่างหนึ่ง ส่วนแบบที่สองคือตัวงานที่หนัก ส่งผลให้เกิดความเครียด ความกดดัน และเมื่อเกิดความเครียดร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง หรือ ฮอร์โมนตัวนี้ก็อาจจะไปกระตุ้นบางโรคที่เป็นอยู่แล้วให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ เมื่อสักครู่ คุณหมอพูดถึงภาวะ คาโรชิ ซินโดรม คือภาวะที่ทำงานหนักจนหัวใจวายเฉียบพลัน โรคนี้เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่พนักงานของสถานีโทรทัศน์ชื่อดังเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวจากการทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก จึงทำให้หลายคนหันมาสนใจผลกระทบจากการทำงานหนักจนเกินไปมากขึ้น ที่ผ่านมาโรคนี้พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นสังคมที่กดดันเรื่องการทำงานอย่างหนัก จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เผยว่าคนในช่วงอายุ 45-74 ปี ที่ทำงานหนักจนเกินไป หรือมีชั่วโมงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด คือ โรคหัวใจ 42% และเส้นเลือดในสมอง 19% ซึ่งก็สอดคล้องกับที่แพทย์ด้านโรคหัวใจบอกไว้ก่อนหน้านี้ มาดูอาการของโรคนี้กันบ้างครับ โรคคาโรชิซินโดรมอาการหลักๆ ก็จะมี คิดหมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน เริ่มงานเร็ว และ เลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน แทบไม่ใช้วันลา ทั้งลาป่วย ลาพักผ่อน และลากิจ เคร่งเครียดจากการทำงานภายใต้ภาวะกดดัน นอนไม่หลับ หรือ นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเวลาให้ตัวเองและคนรอบข้าง กรมการแพทย์ก็ออกมาให้คำแนะนำวิธีการที่จะทำให้ชีวิตมีความสมดุล หรือ Work life balance เริ่มจาก 1. ต้องยอมรับก่อนว่า ไม่มี work life balance ที่สมบูรณ์แบบ เช่นวันไหนทำงานสนุกก็อาจจะเน้นที่งาน หรือบางวันก็อาจจะให้ความสำคัญกับครอบครัว หรือเรื่องส่วนตัวมากกว่า 2. งานไหนทำให้เราวิตก หรือเครียดเกินไป ให้พิจารณาว่ายังหมาะสมหรือไม่ 3. สุขภาพมาก่อนเสมอ ป่วยก็พักอย่าฝืน 4. ลาหยุดตามสิทธิการเป็นพนักงาน ไม่ต้องกลัวการลางาน 5. หาเวลาให้ครอบครัว คิดว่าครอบครัวสำคัญรองจากสุขภาพ 6. เมื่อเลิกงานแล้วก็หยุดคิดเรื่องงาน ตั้งระยะเวลาทำงานให้ชัดเจน 7. จัดลำดับความสำคัญ งดเล่นโซเชียล เพื่อที่จะได้เอาเวลามาโฟกัสที่งาน เมื่อเสร็จงานจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ส่วนประเทศไทยของเรานั้นทำงานหนักกันแค่ไหน ก็หนักกันถึงขั้นที่ติด 1 ใน 10 อันดับ เมืองที่คนทำงานหนักที่สุดในปี 2022 เลยล่ะครับ เราไล่ให้ดูแค่ 5 อันดับแรก ตัวเลขที่เห็นคือคะแนนเต็ม 100 นะครับ 1.เคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ (50) / 2.ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (61.23) / 3กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (66.02) / 4. เซาเปาโล ประเทศบราซิล (66.57) / 5.กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (70.73) ส่วนเมืองที่คนทำงานแล้วมีความสมดุลชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. ออสโล ประเทศนอร์เวย์ (100) 2. เบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (99.46) 3. เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ (99.24) 4. ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (96.33) 5. โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (96.21) จะสังเกตเห็นว่าเป็นประเทศฝั่งยุโรป หรือ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น ส่วนประเทศที่ทำงานหนักจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เรื่องนี้ยังมีความคิดเห็นจากนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ บอกว่าเมืองไทยในปัจจุบันยังคงมีค่านิยมว่าการทำงานหนักจะทำให้ชีวิตเจริญ ยังมีระบบอำนาจนิยมในองค์กร ที่ผู้น้อยไม่สามารถต่อรองกับผู้ใหญ่ได้ รวมถึงหลังจากที่มีการระบาดของโควิด-19  คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานในสายงานที่ตนเองไม่ได้มีความถนัดหรือชื่นชอบ  บางตำแหน่งต้องเป็นหลายหน้าที่ เพราะบริษัทต้องการลดต้นทุน นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะความเครียด ความกดดันตามมา จากข้อมูลทั้งหมด ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้วโรคที่จะเกิดขึ้นกับเรา ก็ล้วนมีความสัมพันธ์กับลักษณะการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องการทำงาน และยิ่งหากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจจะต้องคำนึงถึงสุขภาพเป็นอันดับแรก แต่ Work Life Balance ของแต่ละคนก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีมาตราฐานเดียวกัน