มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ด้านสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วันที่ 1 ก.พ. 2566 เวลา 17:25 น.
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มมากขึ้น ประเทศไทยต้องเตรียมปรับโครงสร้างการผลิตและกลยุทธ์รับมือการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าแนวโน้มดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตสินค้าไทยต้องมีภาระต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม หากผู้ประกอบการรายใดสามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ แนวโน้มมีความสามารถเข้าถึงตลาดหรือรักษาส่วนแบ่งของตลาดในประเทศคู่ค้าในระยะยาว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเวทีการเจรจาด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคีให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและวางกฎกติกาด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศพัฒนาแล้วทั้งในฝั่งยุโรปและอเมริกาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเชื่อมโยงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในหลายเวทีระดับองค์กรระหว่างประเทศเริ่มหารือเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เวทีสหประชาชาติเองก็มีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีหลักการถึงผลกระทบต่อกาค้าระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลกมีการยกเว้นให้สมาชิกจำกัดการนำเข้าเพื่อสิ่งแวดล้อมได้แต่ต้องสมเหตุสมผลและมีการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เอเปคมีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5 % ในสินค้า 54 รายการ การจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม โดยสมาชิกต้องลดภาษี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของประเทศสมาชิกที่ต้องการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น “สรุปสั้นๆ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี” ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard: SPS) มาตรการที่เกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services: GATS) ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Intellectual Property Rights: TRIPs) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า และ มาตรการด้านการขนส่งทางอากาศ ภายใต้ข้อกำหนดของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือ IATA “ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มมากขึ้น” โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นมหาอำนาจในประชาคมโลกมีความเข้มงวดสูง ตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น มาตรการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย คดีแร่ร์เอิร์ธ ของจีนที่ห้ามส่งออก ซึ่งแร่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การต่อต้านการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ในการผลิตสินค้า อุตสาหกรรมการบินมีมาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับทุกสายการบินที่ลงจอด ณ ท่าอากาศยานของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับการนำเข้าสินค้า ระเบียบว่าด้วยการกำจัดเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) ไม่เพียงเฉพาะในประเทศสหภาพยุโรปที่ใช้ระเบียบนี้ ปัจจุบันจีนก็เริ่มใช้กฎระเบียบดังกล่าวด้วยเช่นกันเพื่อคุ้มครองผู้ผลิต ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายบางประเทศในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดให้แสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า เป็นต้น ล้วนเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก ตัวอย่างมาตรการที่เป็นเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม เช่น “มาตรการฉลากสิ่งแวดล้อม” (Eco-Label) คือ ฉลากที่กำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยในกระบวนการผลิตหรือใช้งานสามารถลดการใช้ทรัพยากร หรือลดการก่อมลพิษ “มาตรการฉลากสีเขียว” (Green Dot) คือ เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน เป็นแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในรูปของความสมัครใจ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค และสร้างความกดดันให้กับผู้ผลิต ในการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ “มาตรการฉลากคาร์บอน” (Carbon footprint) คือ การแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตลอดวัฎจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ซึ่งฉลากคารบอนจัดอยู่ในฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 3 เป็นต้น ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ เรื่องมุ่งเศรษฐกิจสีเขียวรับเงื่อนไขการค้าโลกที่เปลี่ยนไป ระบุหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อไม่ถูกกีดกันทางการค้าคือ กลยุทธ์เรื่องการปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3R) โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสะอาด ลดการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตต่างๆ มีกระบวนการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่หรือนำกลับมาใช้ใหม่ มองว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง เป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นตัวเร่งที่ทำให้ประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกต้องปฏิบัติตาม รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ทั้งการปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่โปร่งใสและเป็นระบบ ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) ตามเทรนด์โลก เพื่อลดโอกาสที่โดนมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แม้ว่าแนวโน้มดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกและผู้ผลิตสินค้าไทยต้องมีภาระต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ประกอบการรายใดสามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้ แนวโน้มมีความสามารถเข้าถึงตลาดหรือรักษาส่วนแบ่งของตลาดในประเทศคู่ค้าได้ในระยะยาว