คอลัมน์หมายเลข 7 : หมกเม็ดทำสำนวนอ่อน ? จับตาอัยการรื้อคดีเผาสวนงู
วันที่ 1 ก.พ. 2566 เวลา 20:10 น.
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 ตามต่อ ทวงคืนความยุติธรรมคดีเผาสวนงู จังหวัดภูเก็ต ให้กับผู้เสียหาย มีการบิดพริ้วอะไรในสำนวนจนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้อง ครอบครัวเหยื่อสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง คุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด ไปเจาะมาให้คุณผู้ชมแล้ว ไปติดตามกัน ดคีเผาสวนงู นายตู้ห่าวและภรรยา ถูกซัดทอดเป็นผู้จ้างวาน ก่อนอัยการจังหวัดภูเก็ตจะสั่งไม่ฟ้อง เมื่อปลายปี 2560 หรือหลังเกิดเหตุ 5 ปี แม้ขณะนั้นตำรวจภาค 8 จะเห็นแย้ง แต่อัยการสูงสุดยืนคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง ส่วน นายสุวรรณ ผู้ต้องหารายแรกที่ถูกจับกุมศาลได้พิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า โจทย์จำหน้าได้เพียงแค่นายสุรชัย ส่วน นายสุวรรณ คนขับรถของตู้ห่าว กับ สุรชัย ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมาก่อน ภาพถ่ายคนร้ายในที่เกิดเหตุไม่ชัดเจน การจะรับฟังพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดลงโทษจำเลยได้นั้น ต้องเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย จึงให้ยกประโยชน์ให้จำเลย หรือ นายสุวรรณ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของคดีลดลง คือ ตำรวจเจ้าของคดีไม่ได้ไปเบิกความ เพื่อให้จำเลยถามค้าน ศาลจึงเห็นว่าพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำมาสืบยังไม่พอที่จะรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำผิดตามฟ้อง ทันทีศาลยกฟ้อง คดีก็ยุติไปโดยปริยาย แต่หลังจากตำรวจกองปราบ จับผู้ต้องหาคนสำคัญได้ ก็เป็นความหวังถึงการรื้อฟื้นคดีในอีกทางหนึ่ง แต่จะทำได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของตำรวจพื้นที่ที่ต้องดำเนินการ จากการเจาะข้อมูลของทีมข่าว พบว่า คดีนี้อาจมีการหมกเม็ด ช่วยเหลือให้ผู้กระทำความผิดพ้นผิดแต่ต้น เรื่องนี้ครอบครัวผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องเองได้ เพื่อทวงความยุติธรรม หรือ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีหากพบว่ามีสำนวนบางส่วนหายไป สามารถรื้อคดีใหม่ได้ เช่นเดียวกับอัยการสูงสุด หากตรวจสอบย้อนไปแล้วมีข้อบกพร่อง ไม่ชอบมาพากล สามารถสั่งรื้อสำนวนได้ การจะรื้อฟื้นคดีได้หรือไม่ต้องดูที่สำนวน เบื้องต้นอัยการสูงสุดได้สั่งให้อัยการจังหวัดภูเก็ต ส่งสำนวนมาให้ตรวจสอบ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงว่ามีกระบวนการทำให้สำนวนเสียไปตั้งแต่ต้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่สำนักงานอัยการสูงสุดเองก็ต้องรีบให้คำตอบสังคม เพราะเกี่ยวข้องกับองค์กรของตัวเองโดยตรง