เมื่อชนบททั่วโลกมีแต่คนแก่ สำรวจนโยบายย้ายประชากรออกจากเมืองหลวง

วันที่ 19 ม.ค. 2566 เวลา 15:50 น.

ด้วยจำนวนประชากรที่ลดลงในหลายประเทศ และการย้ายมาทำงานในเมืองใหญ่ของคนหนุ่มสาว ทำให้หลายประเทศประสบปัญหาชนบทร้างผู้คนพักอาศัย วันนี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีรัฐบาลหลายประเทศถึงกับต้องลงทุนจ้างคนประเทศตัวเอง รวมถึงคนต่างชาติย้ายไปพักอาศัยในเมืองชนบทเหล่านั้น ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ชนบทของประเทศเหล่านี้ร้างผู้คนมีหลายประการ ทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ประชากรอายุน้อยมีจำนวนลดลง กระแสคนย้ายไปอยู่เมืองเพิ่มขึ้นจากความสะดวกสบายและโอกาสในการทำงานที่ดีกว่า เหตุผลทางครอบครัวเพื่อการศึกษาของลูกๆ ที่เมื่อลูกเรียนจบก็มักกลายเป็นคนเมือง หางาน ซื้อบ้านอยู่ในเมืองไปเลย ทั้งหมดนี้ทำให้ชนบทหลายแห่งของหลายประเทศมีประชากรลดลง หรือมีแต่คนแก่ ในทางตรงข้าม เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ของประเทศกลับประสบปัญหามีประชากรล้น หนาแน่นเกินไป ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นออกนโยบายให้เงินให้แก่ครอบครัวที่ยอมย้ายออกจากโตเกียวไปอยู่นอกเมืองหรือต่างจังหวัดสูงสุดถึง 1 ล้านเยนต่อลูก 1 คน (อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 18 ปี แต่ยังเรียนชั้นปีสุดท้ายในระดับมัธยมอยู่) เพิ่มจากปี 2019 ที่ให้แค่ 300,000 เยนต่อลูก 1 คน มาตรการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ประชากรอายุน้อยยอมย้ายออกไปอยู่นอกโตเกียวมากขึ้น โดยแต่ละครอบครัวมีสิทธิ์ได้เงินสูงสุด 3 ล้านเยน รวมถึงเงินทุนสนับสนุนหากมีการก่อตั้งธุรกิจ โดยพื้นที่ที่ได้รับข้อเสนอนี้ได้แก่ ผู้อาศัยใน 23 เขตหลักของโตเกียว และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ไซตามะ ชิบะ คานากาวะ ทั้งนี้พบว่า มีเทศบาลราว ราว 80% หรือ 1,300 แห่งเข้าร่วมโครงการนี้ มาตรการดังกล่าวทั้งเพื่อลดความหนาแน่นของโตเกียวที่ปัจจุบันติดลำดับเป็นเมืองหนาแน่นต้นๆ ของโลก รวมถึงกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้มีลูกมากขึ้น และแก้ปัญหาที่ในต่างจังหวัดทุกวันนี้มีแต่ประชากรสูงอายุ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับเงินก้อนดังกล่าวจากรัฐบาลต้องทำงานในจังหวัดนั้นอย่างน้อย 5 ปี มิฉะนั้นต้องคืนเงินให้รัฐบาล มาตรการลักษณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ เพราะทุกประเทศต่างประสบปัญหาใกล้เคียงกัน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เมืองหลวงหนาแน่น ชนบทร้างผู้คนและมีแต่คนแก่ ตลอดจนคนวัยหนุ่มสาวไม่อยากมีลูก ตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลออกมาตรการจูงใจให้เงิน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อดึงดูดคนย้ายไปชนบท เช่น ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โดยมีมาตรการเช่น • รัฐบาลไอร์แลนด์ออกมาตรการให้เงินสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ประชาชนที่ย้ายไปพักในชนบท โดยตั้งงบประมาณถึง 1 พันล้านยูโร นอกจากนี้ยังมีนโยบายจัดสร้างศูนย์สำหรับทำงานนอกสถานที่ตามเมืองในต่างจังหวัด ที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้การทำงานจากเมืองเหล่านี้ง่าย สะดวก ไม่มีข้อติดขัด โดยมีแผนจะเปลี่ยนสถานที่ต่างๆ ของชุมชนเป็นศูนย์ work from home เช่น ที่ว่าการเมือง โรงภาพยนตร์ เป็นต้น • รัฐบาลโปรตุเกสมีมาตรการให้คนสามารถยื่นขอรับเงินสนับสนุนสูงสุดที่ 4,827 ยูโรเพื่อย้ายไปอยู่ตามหมู่บ้านในชนบท ทั้งนี้จากการอ้างอิงของ Financial Times ด้วยเงินจำนวนนั้น ผู้รับเงินสามารถใช้จ่ายค่าเช่าบ้านได้อย่างน้อย 1 ปี • รัฐบาลท้องถิ่นของอิตาลี ที่หลายเมืองตอนใต้แทบร้าง มีแต่คนแก่ เช่น เมือง Of Santo Stefano di Sessanio เมืองยุคกลางที่ปัจจุบันมีประชากรแค่ 115 คน ในจำนวนนี้มี 41 คนที่อายุเกิน 65 ปี และมีเพียง 13 คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี โดยรัฐบาลของเมืองประกาศมาตรการจูงใจให้คนที่ย้ายไปอยู่ได้รับเงินสนับสนุนปีละ 8,000 ยูโรเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ ถ้าย้ายไปจัดตั้งในเมืองนี้ รัฐบาลยังมอบทุนสนับสนุนให้บริษัท 20,000 ยูโร • รัฐบาลของรัฐ Vermont ประเทศสหรัฐอเมริกา มอบเงินให้สูงสุด 7,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อจูงใจให้ย้ายมาอยู่หรือทำงานในรัฐ • รัฐบาลออสเตรเลียที่มีแพ็คเกจสนับสนุนเงินสูงสุดที่ 6,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียเพื่อจูงใจให้ย้ายไปอาศัยในเมืองชนบท ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้มาตรการนี้มีความเป็นไปได้ ตลอดจนการย้ายไปทำงานในต่างจังหวัดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสาเหตุอย่างน้อย 3 ข้อ 1. เทคโนโลยี จากการที่เทคโนโลยีในปัจจุบันเอื้อให้คนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ขอเพียงมีคอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเตอร์เน็ตดีๆ ก็สามารถทำงานหรือประชุมจากที่ไหนก็ได้ 2. วัฒนธรรม work from home โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังยุคโควิดที่ทุกคนทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง หัวหน้า ลูกน้องต่างคุ้นเคยกับการทำงานจากบ้าน หรือนอกออฟฟิศ หลายคนเห็นประโยชน์ของการทำงานจากนอกออฟฟิศ ว่าสามารถรักษาประสิทธิภาพในการทำงานและขององค์กร ยังช่วยประหยัดต้นทุนหลายอย่าง ทั้งเวลาและการเดินทางของพนักงานรวมถึงหัวหน้า ตลอดจนต้นทุนขององค์กร เช่น ค่าเช่าอาคาร ปัจจุบันการยอมรับให้ทำงานแบบ work from home จึงกลายเป็นเรื่องปกติ 3. ความจำเป็นของภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆ ในการปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อดึงดูดหรือรักษาแรงงานทักษะสูง ที่มีสไตล์การทำงานแบบนี้ ชอบทำงานที่มีความยืดหยุ่น ทำงานจากนอกสถานที่ได้ สามารถเที่ยวไป ทำงานไป หรือกระทั่งทำงานให้หลายบริษัทพร้อมกัน ถ้าบริษัทไม่ปรับหรือยอมรับการทำงานสไตล์นี้ ก็เสี่ยงสูญเสียแรงงานทักษะสูง หรือไม่สามารถหาแรงงานทักษะสูงมาทำงานด้วย ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เห็นว่า มาตรการข้างต้นของรัฐบาลประเทศต่างๆ เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศไทยหลายเรื่อง ทั้งแนวโน้มในการรับมือสังคมผู้สูงอายุของไทยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความนิยมย้ายมาทำงานในเมือง ที่ทำให้ในอนาคตภาคชนบทไทยเสี่ยงประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือภาคเอกชนท้องถิ่น ลองคิดหรือหามาตรการลักษณะนี้เพื่อสร้างท้องถิ่นตนเองให้เข้มแข็ง มีจุดขาย เพื่อสามารถรักษาคนรุ่นใหม่ และทำให้ชุมชนมีพลังทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นตัวอย่างแนวทางสำหรับรัฐบาลไทย ในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินได้เพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยอาจมุ่งเป้าเลือกพื้นที่ที่เจาะจงในชนบท เพื่อช่วยขยายความเจริญทางเศรษฐกิจออกไปพื้นที่นั้น ดีกว่าอนุญาตให้ซื้อในเมือง ที่มีที่ดินจำกัด เสี่ยงทำให้ราคาสูงขึ้น และคนไทยเข้าถึงที่ดินในเมืองยากขึ้น