คอลัมน์หมายเลข 7 : ใกล้ปิดฉาก แก๊งส่วยวีซา ทุนสีเทา
วันที่ 18 ม.ค. 2566 เวลา 20:13 น.
ข่าวภาคค่ำ - อาณาจักรธุรกิจสีเทาของแก๊งมังกรนอกรีต ไม่เพียงพัวพันการจ่ายใต้โต๊ะ เพื่อแลกกับการปล่อยตัวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องส่วยวีซาที่ทำกันเป็นขบวนการ ล่าสุดมีความคืบหน้า โดยชุดสอบสวนเตรียมแจ้งข้อหา ตม. เกือบ 90 นาย รวม 3 นายพลด้วย เส้นทางขบวนการนี้เป็นอย่างไร และมีวงเงินมหาศาลแค่ไหน ติดตามกับ คุณมะลิ แซ่ฉิ่น การทลายเครือข่ายแก๊งมังกรนอกรีต ที่เริ่มต้นจากการจับผับจินหลิง แตกยอดออกไปหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีทั้งตำรวจที่ทำคดีผับจินหลิง รับสินบนปล่อยรถหรู ดีเอสไอ ตำรวจ 191 และทหารอีก 1 นาย ที่ปรากฏข้อมูลว่ามีเอี่ยวเรียกรับเงินแลกกับการปล่อยตัวรวมถึงประเด็นส่วยวีซา ที่เชื่อมโยงตำรวจ ตม. และ 3 นายพล โดยคอลัมน์หมายเลข 7 ได้เจาะลึกและนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง รูปแบบส่วยวีซาทำกันเป็นขบวนการ มีตัวละครหลัก คือ แก๊งมังกรนอกรีต ใช้เงินเป็นใบเบิกทาง สร้างตัวตนให้กับคนในแก๊งผ่านมูลนิธิ เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการเปลี่ยนประเภทวีซา จากนักท่องเที่ยวเป็นอาสาสมัคร หรือนักเรียน อย่างที่คุณผู้ชมเห็นอยู่นี้เป็นเอกสารรับรองการเปลี่ยนแปลงประเภทวีซา ลงนามรับรองโดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถูกนำมาใช้อ้างอิงในพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งไม่เพียงจะทำผิดกติกาการใช้เอกสารข้ามจังหวัด แม้แต่ตัวหนังสือภาษาไทย ส่งเอกสารถึงผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 5 ก็ยังเขียนผิด ทั้งที่เป็นหนังสือราชการหลัก แต่เอกสารนี้ ตม. ผู้ลงตรา กลับปล่อยผ่าน เสมือนมองไม่เห็นความผิดปกติ เมื่อได้ข้อมูล ชุดสอบสวนขยายผลต่อ จากการสอบสวน ตม. หัวหน้าสถานี 26 แห่ง เริ่มลงพื้นที่เก็บหลักฐานการลงตราวีซาในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ ที่สุดข้อมูลทั้งหมดถูกส่งมาที่ส่วนกลาง เพื่อวิเคราะห์ผล และเตรียมออกหมายเรียก ตม. เกือบ 90 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีระดับผู้บังคับการ หรือชั้นนายพล 3 ราย ที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ออกมาเปิดข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ด้วย จากข้อมูลการสืบสวน พบว่าช่วงปี 2563-2565 มีคนจีนที่ต้องการอยู่ในประเทศไทยต่อ และใช้บริการสีเทาแบบนี้ โดยมีเส้นทางจ่ายเงินไล่จากนายหน้า เพื่อเปลี่ยนประเภทวีซา 2,000-3,000 บาท ส่งต่อไปยัง ตม. ซึ่งหากเป็นระดับผู้บังคับการฯ ลงนาม จะอนุมัติให้ได้ 90 วัน หรือ 3 เดือน เช่นเดียวกับหัวหน้าสถานี หรือหัวหน้าด่าน ที่จะมีอำนาจอนุมัติได้ 30-90 วัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับพบว่ามีการขยายเวลาเพิ่มจากเดิมยาวถึง 1 ปี ซึ่งในขั้นตอนของ ตม. นี้ มีรายงานว่าค่าใช้จ่ายแตกต่างกันออกไปเฉลี่ยประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อหัว เมื่อนำมาคูณกับตัวเลขคนจีนที่มีการเปลี่ยนประเภทวีซา ในช่วงปี 2563-2565 ราว 4,000 คน จะคิดเป็นเงินส่วยวีซาประมาณ 120 ล้านบาท นี่อาจช่วยคลายปริศนาที่ว่าทำไมใคร ๆ ก็อยากย้ายไปอยู่ ตม. แล้วจะจัดการขบวนการเหล่านี้ให้สิ้นซากได้หรือไม่ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้รับผิดชอบ ต้องเร่งให้คำตอบกับสังคม ซึ่งตอนนี้ตำรวจเลือกจับมือกับฝ่ายปกครอง ช่วยกันปัดกวาดรายชื่อมูลนิธิ ซึ่งพบว่ามีอยู่ 5 แห่งหลัก ๆ ที่มีสาขาทั่วไทย กำจัดมูลนิธิเถื่อน เปิดทางให้คนที่ทำถูกกฎหมาย ไม่ต้องโดนหางเลขไปด้วย เพราะคนจีนที่ทำธุรกิจบริสุทธิ์ก็มีอยู่มาก จะได้ไม่ต้องแปดเปื้อนกับคนไม่ดีเพียงกลุ่มเดียว