อาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคต

วันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 16:55 น.

อาชีพหรืองานประเภทไหนบ้างที่กำลังเป็นที่ต้องการในยุคหลังโควิด เว็บไซต์หางาน monster.com รายงานผลการสำรวจว่า มีพนักงานในกลุ่มตัวอย่างการสำรวจประมาณ 96% ต้องการหางานใหม่ในปี 2566 โดยหางานที่จะให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือมีสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ ประมาณ 40% ให้เหตุผลว่าต้องการหางานใหม่ที่มีเงินเดือนสูงขึ้นเพราะค่าครองชีพสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงในปีที่ผ่านมา ในขณะที่บางส่วนให้เหตุผลว่าเป็นเพราะที่ทำงานเดิมมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี Bloomberg และ Career Fitter จัดอันดับอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน โดยในโพสต์นี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ขอจัดอาชีพเหล่านี้ไว้เป็นหมวดหมู่แทนอันดับความต้องการ ====== หมวดที่ 1 ประกอบด้วย 9 อาชีพที่เกี่ยวกับการรักษาและพยาบาล งานที่เกี่ยวกับการให้บริการด้านสุขภาพ 1. พยาบาล และผู้ดูแลคนป่วยที่บ้าน 2. ผู้บริหาร/ผู้จัดการสถานบริการด้านสุขภาพ 3. ผู้ช่วยแพทย์ 4. นักกายภาพบำบัด 5. ทันตแพทย์ 6. นักจิตวิทยาที่ทำงานในโรงเรียน 7. ครูผู้สอนสำหรับสาชาวิชาที่ให้บริการรักษาและดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ เช่น นักจิตวิทยา เภสัชกร หรือแม้แต่ทันตแพทย์ ที่รักษาผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยโรคหอบ 8. นักพัฒนาเทคโนโลยีด้านหัวใจและทรวงอก 9. นักบำบัดระบบทางเดินหายใจ อาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่มีแนวโน้มความต้องการในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนเรามีอายุยืนมากขึ้น ในขณะที่โรคภัยไข้เจ็บก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความต้องการผู้ดูแลคนป่วยตามที่พักอาศัยมากขึ้น ยิ่งมีความรู้ด้านพยาบาล ก็ยิ่งได้รับค่าจ้างสูง นอกจากนี้ปัญหาครอบครัวและปัญหาสุขภาพจิตในเด็กมีเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากแรงกดดันที่มาพร้อมกับสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้อาชีพที่เกี่ยวกับจิตวิทยามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรคต่อเนื่องที่เป็นผลจากการติดไวรัสโควิด-19 จะทำให้มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอกและระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น หมวดที่ 2 ประกอบด้วย 2 อาชีพทางการเงินที่ยังคงเป็นที่ต้องการในทุกบริษัท 1. นักบริหารการเงิน หรือผู้จัดการด้านการเงิน 2. นักวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน เนื่องจากทุกองค์กรต้องบริหารจัดการการเงินภายใน ต้องวางแผนการใช้งบประมาณและการลงทุนภายในแต่ละปี และจัดทำงบต่างๆ เพื่อประเมินสถานะทางการเงินขององค์กร ระดมทุน หรือรายงานต่อผู้ถือหุ้นหรือหน่วยงานรัฐตามกฎหมายกำหนด ทำให้งานด้านนี้มีความมั่นคงกว่างานประเภทอื่น หมวดที่ 3 ประกอบด้วยอาชีพที่เกี่ยวกับทักษะการจัดการข้อมูลและเทคโนโลยี 1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 2. นักวิเคราะห์/ทดสอบคุณภาพซอฟแวร์ 3. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยด้านข้อมูล หรือที่เรียกว่า Information Security Analyst ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของระบบข้อมูลด้วยการทดสอบความปลอดภัยของระบบข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ วิเคราะห์ระบบงานและออกแบบให้ระบบงานไม่ถูกแฮกได้โดยง่าย 4.  นักวิทยาศาตร์ด้านข้อมูล หมายถึง นักวิเคราะห์ข้อมูล ที่มีทักษะด้านสถิติ การคำนวณและพัฒนาแบบจำลองเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดึงเอาสิ่งที่สะท้อนผ่านข้อมูลต่างๆ ไปใช้ในการวางแผนธุรกิจและการจัดการธุรกิจให้สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น 5. ผู้จัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 6. นักออกแบบและพัฒนาเว๊บไซต์ 7. ผู้บริหารจัดการข้อมูลและระบบฐานข้อมูล อาชีพเหล่านี้ คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เนตและข้อมูลจำนวนมากในการบริหารจัดการและวางแผนธุรกิจ รวมไปถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ อีกทั้งข้อมูลลูกค้ายังต้องมีการจัดเก็บอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้หลุดไหลออกจากบริษัทและเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวดที่ 4 เป็นงานที่เกี่ยวกับการขนส่งและการเดินทาง 1. นักวิเคราะห์วางแผนการขนส่งสินค้า ตลาดแรงงานต้องการคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายของห่วงโซ่อุปทานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค้าขายย่อมมาพร้อมกับการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ นักวิเคราะห์กลุ่มนี้มีหน้าที่หลัก คือ การวางแผนเส้นทางและวิธีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพใช้เวลาขนส่งน้อยที่สุดและมีต้นทุนในการขนส่งต่ำที่สุด รวมถึงต้องเป็นการขนส่งที่ก่อให้เกิดความปลอดภัยของสินค้าที่ทำการขนส่ง 2. ผู้ให้บริการขับรถรับ-ส่ง เนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือที่รู้จักกันในนามปัญหาโลกร้อน ทำให้โลกให้ความสนใจกับเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนของธุรกิจ ธุรกิจต่างหันมาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และหนึ่งในวิธีนั้นคือการลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว อีกทั้งการให้ความสำคัญกับความมีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดค่าบำรุงรักษายานพาหนะขององค์กร ด้วยการใช้บริการรถเช่าและรถรับ-ส่งแทน หมวดที่ 5 เป็นงานบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการช่วยแบ่งเบาภาระคนรุ่นใหม่ ที่มีเวลาส่วนตัวน้อยลง ทำงานหนักมากขึ้น และอาจต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น 1. เชฟร้านอาหาร/โรงแรม เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ และต้องอาศัยการสะสมประสบการณ์ จำนวนเชฟในตลาดแรงงานจึงน้อยกว่าความต้องการในตลาดแรงงาน ทำให้ได้รับค่าจ้างสูง 2. อาชีพรับจ้างดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นการให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยงแทนเจ้าของซึ่งอาจจะต้องเข้าออฟฟิศหรือเดินทางไกลและไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงไปได้ อาชีพทั้ง 5 หมวดนี้เป็นอาชีพที่หลายๆ เว็บไซต์ต่างยกให้เป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในปีนี้และในอีกหลายปีข้างหน้า การเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนต่อ หรือการเลือกเปิด/ขยายสาขาวิชาในมหาวิทยาลัย อาจอาศัยข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจ เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการเรียนจบไม่ตรงสายงานที่ต้องการจนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ และการว่างงานหลังเรียนจบ