แนวโน้มราคาไข่พุ่งต่อเนื่อง หลังต้นทุนพุ่ง 30%
วันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 15:49 น.
สมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง โอดต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงถึง 3.45-3.50 บาท/ฟอง พุ่งขึ้น 30% คาดราคาพุ่งต่อเนื่อง วอนผู้บริโภคเข้าใจ จี้รัฐเร่งหาทางช่วยลดต้นทุน วันนี้ (17 ม.ค.2566) นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันไข่ไก่มีต้นทุนการผลิตสูงถึง 3.45-3.50 บาท/ฟอง สูงกว่าช่วงปกติถึง 30% เกิดจากราคาธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากและยืนแข็งในเกณฑ์สูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารเลี้ยงไก่ไข่ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่แทบจะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อไปได้อีก เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด จึงประกาศขยับราคาขายขึ้นเป็น 3.60 บาท/ฟองเมื่อสองสัปดาห์ก่อน คาดว่าราคาไข่ไก่อาจต้องขยับอีกหากต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด วอนภาครัฐเร่งแก้ปัญหาวัตถุดิบ และขอพี่น้องประชาชนโปรดเข้าใจสถานการณ์ เพราะไม่มีใครอยู่รอดได้หากต้องขายของในราคาขาดทุน “รัฐปล่อยให้ราคาวัตถุดิบสูงอยู่เช่นนี้มานาน ควรเร่งหาทางแก้ไขและเปิดทางราคาขายผลผลิตให้สอดคล้องกับต้นทุน เพื่อให้เกษตรกรพอมีกำไรและทำธุรกิจฟาร์มต่อไปได้ อย่าลืมว่ายังมีต้นทุนอื่นๆอีกที่ล้วนขยับสูงขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าพลังงาน น้ำมัน แก๊ส หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าแรงงานต่างๆภายในฟาร์ม ทำให้ส่วนต่างจากการขายไข่ทุกวันนี้ แทบไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารแล้ว” นางพเยาว์กล่าว จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาต้นทุนพุ่ง ทั้งนี้ พืชวัตถุดิบเป็นต้นทุนถึง 90% ของการผลิตอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ก็เป็นต้นทุนการผลิตไข่ไก่ถึง 60-70 % แม้จะรับทราบมาตลอดว่าราคาธัญพืชสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาภัยแล้งหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงการที่จีนกว้านซื้อธัญพืชวัตถุดิบจากทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยระดับโลกที่แก้ได้ยาก แต่ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้เกษตรผู้เลี้ยงสัตว์และบรรเทาภาวะค่าครองชีพให้ผู้บริโภคได้ นั่นก็คือ “นโยบายรัฐ” ในด้านการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ การกำหนดเพดานราคาข้าวโพดไม่ให้เกินกว่าข้าวโพดนำเข้า หรือ การลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองให้เป็นศูนย์ การยกเลิกมาตรการ 3:1 ฯลฯ ซึ่งน่าจะช่วยลดภาระให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้พออยู่ได้ท่ามกลางราคาต้นทุนการผลิตที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกด้าน รวมถึงดอกเบี้ยขาขึ้นที่สถาบันการเงินต่างทยอยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยออกมา “ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูงถึง 13.40 บาท/กก. และกากถั่วเหลืองมีราคาถึง 23.70 บาท/กก. โดยมีการคาดการณ์กันว่า ราคาวัตถุดิบในปี 2566 นี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 10% เป็นภาระต้นทุนที่รออยู่ของเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ทุกคนที่ภาครัฐจำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” นางพเยาว์กล่าว