ตำรวจไซเบอร์ แนะป้องกันโดนแฮ็กมือถือดูดเงิน
วันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 06:18 น.
เช้านี้ที่หมอชิต - จากปัญหาที่มีผู้เสียหายถูกแฮ็กมือถือ ดูดเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างผลกระทบอย่างมากมายในขณะนี้ เช้านี้ที่หมอชิตได้สัมภาษณ์ พลตำรวจตรี นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ตำรวจไซเบอร์ เพื่อหาคำตอบเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ประเด็นที่ทางรองผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์แจกแจง คือเรื่องของรูปแบบการหลอกลวงด้านการเงินทางออนไลน์ 6 ประเภท ประเภทแรก คือ จากกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทย หลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ที่จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ ซึ่งมีสถิติแจ้งความมากที่สุด ประเภทที่ 2 คือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสถิติการแจ้งความไม่ได้เท่ากับประเภทแรก แต่มูลค่าความเสียหายมากกว่า ซึ่งใช้วิธีหลอกให้กลัว เพื่อให้โอนเงินไปยืนยันความบริสุทธิ์ ประเภทที่ 3 หลอกให้รักแล้วหลอกเอาเงินไปลงทุนต่าง ๆ ประเภทที่ 4 คือหลอกให้ไปทำงานหรือภารกิจต่าง ๆ ซื้อหรือสต็อคสินค้าลม แล้วก็ได้ค่าตอบแทนดี ซึ่งมักได้ค่าตอบแทนในช่วงแรก หลังจากนั้นก็ไม่ได้เงิน ประเภทที่ 5 หลอกให้กู้เงิน ให้จ่ายเงินเข้าไป แต่ไม่ได้เงินจริง ๆ ประเภทที่ 6 แชร์ลูกโซ่ ที่สร้างเรื่องราวดึงดูดให้คนไปลงทุน ให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น เรื่องคริปโต เคอเรนซี่ โดยรองผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ ยอมรับว่า การป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่ทำได้ช้ากว่าพัฒนาการของคนร้าย ปัญหาในเรื่องของระบบปฏิบัติการโทรศัพท์ที่มีระบบป้องกันที่แตกต่างกัน กับความนิยมที่ประชาชนคนธรรมดาส่วนใหญ่นิยมใช้ นี่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ป้องกันแก้ไขได้ยาก นอกจากแนะนำกันว่า ห้ามดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใด ๆ นอกจากที่ทางระบบปฏิบัติการเป็นผู้ให้บริการดาวน์โหลดเอง เพราะอาจเสี่ยงตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันของทางตำรวจ บอกว่าได้พยายามประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน ในประเด็นที่ขอให้จำกัดเพดานการโอนเงินด้วยแอพลิเคชั่นมือถือวันละไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงเรื่องการลงทะเบียนผู้ซื้อซิมเติมเงินจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และแม้แต่ กสทช. ยังติดหลายประเด็นที่เป็นข้อจำกัด เช่น เรื่องกฎหมาย และสิทธิของผู้บริโภค การพยายามสร้างเงื่อนไขให้มิจฉาชีพดูดเงินทางออนไลน์ทำงานได้ยากขึ้น จึงเป็นทางออกในขณะนี้ รองผู้บัญชาการไซเบอร์บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพประเภทใดล้วนเกี่ยวพันกับบัญชีม้าทั้งสิ้น เช่น การแฮ็กระบบมือถือที่มีแอปพลิเคชันธนาคารก็จะโอนเงินเข้าบัญชีม้า แถวที่ 1-2-3-4 หากสามารถขอความร่วมมือกับธนาคารได้ ก็จะทำให้เงินที่หลอกลวงผู้เสียหายไปจะไปตันในขั้นตอนการโอนเงิน ตำรวจและธนาคารมีเวลาเพื่อดึงเงินคืนให้ผู้เสียหายได้ทัน อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องการดูดเงินจากผู้เสียหายที่ระบุว่า ไม่ได้มีการใช้มือถือ แต่คนร้ายทำธุรกรรมดูดเงินออกไป ทางรองผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์บอกว่า ไม่น่าเป็นไปได้ และหากตรวจสอบดี ๆ จะพบว่ามีการใช้โทรศัพท์ดาวโหลดน์แอฟพลิเคชันบางประเภทเข้ามาฝังไว้ในมือถือ ส่วนอีกประเด็นที่มีการพูดถึงในโลกออนไลน์เป็นอย่างมากจนเกิดความกังวล คือการดูดข้อมูลจากทางสายชาร์ตไอโฟน ทางรองผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ยอมรับว่า มีจริง ๆ แต่ไม่ได้เป็นวิธีการที่คนร้ายจะทำกับคนทั่วไป แต่เป็นลักษณะที่เรียกว่า "คีย์ล็อกเกอร์" ที่ใช้สำหรับมุ่งเป้าหมายบุคคลเท่านั้น สำหรับการรับมือปัญหาภัยมิจฉาชีพดูดเงินทางออนไลน์ อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่เมื่อดูสถิติในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ในปี 2565 มีคนมาแจ้งความ 160,000 กว่าคดี ความเสียหายในภาพรวมจากมิจฉาชีพทุกประเภทกว่า 27,000 ล้านบาท จึงเป็นภารกิจที่หนักอึ้งของตำรวจไซเบอร์ในการป้องกันและปราบปราม