ทำเกลือสินเธาว์ ภูมิปัญญาดั้งเดิมชาวอีสาน จ.นครราชสีมา

วันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลา 05:02 น.

เช้าข่าว 7 สี - ในยุคนี้ แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีการทำและใช้เกลือสินเธาว์กันอยู่ เพราะว่าเกลือทะเล ก็ไม่ได้เป็นของที่หายากจากแหล่งผลิตใหญ่ ก็มีส่งขายกันไปทั่วประเทศ แต่ที่ยังมีการใช้เกลือสินเธาว์กันอยู่ เพราะชาวอีสานเขาบอกว่า ปลาร้าที่หมักด้วยเกลือสินเธาว์ แซบนัวกว่าปลาร้าที่หมักด้วยเกลือทะเล ภาพที่เห็นนี้ เป็นดินที่มีเกลือผสมอยู่ ชาวบ้านเรียก "ดินขี้กะทา" ใช้เพาะปลูกพืชผักอะไรไม่ได้ เข้าหน้าแล้งของทุกปีชาวบ้านบ้านนาดี ตำบลและอำเภอโนน-แดง จังหวัดนครราชสีมา ก็จะออกไปขูดดินผสมเกลือนี้ รวมไว้เป็นกองเล็ก ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเกลือสินเธาว์ เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานานนับร้อยปี วิธีการเริ่มจาก นำดินที่ขูดได้ไปละลายในน้ำ หมักเอาไว้จนตกตะกอน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำใส ๆ นำไปใส่ถาดสังกะสีขนาดใหญ่ ต้มบนเตาดินเผาแบบดั้งเดิม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จนน้ำระเหยไปหมดเหลือเพียงผลึกเกลือสีขาว นำไปตากแดดจัดจนแห้งสนิทเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะเก็บไว้ใช้ หรือ ขายเป็นรายได้เสริม นายสุข เช่านอก อายุ 71 ปี   เป็น 1 ในชาวบ้านที่ทำเกลือสินเธาว์แบบดั้งเดิม จากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นบอกว่า เกลือสินเธาว์จะทำได้เฉพาะในช่วงนี้ ยาวไปจนถึงเดือนเมษายน  เพราะเป็นช่วงฝนแล้งทำนาไม่ได้ เห็นวิธีการบ้าน ๆ แบบนี้ ลุงสุขบอกว่า แค่ 3 - 4 เดือน ก็ได้เงินจากการขายเกลือเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 - 50,000 บาท เป็นรายได้เสริมที่ค่อนข้างดีทีเดียว  นอกจากนี้ เกลือสินเธาว์ของแก นอกจากขายกันในพื้นที่แล้ว ก็ยังมีพ่อค้าทั้งจากจังหวัดมหาสารคาม และนครพนม มาขอซื้อ ที่ยังมีการใช้เกลือสินเธาว์กันอยู่ ก็เพราะคนอีสานนิยมนำไปใช้หมักปลาร้า ทำให้ได้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อม ที่สำคัญ ปลาร้าที่หมักด้วยเกลือสินเธาว์จะบูดเสียยาก ทำให้เก็บได้นาน ถ้าใช้เกลือทะเล ซึ่งมีการเติมสารไอโอดีนลงไปเยอะ เมื่อนำไปหมักปลาร้าจะบูดเสียเร็ว ก็เลยเป็นคำตอบว่า เพราะเหตุใดจึงยังมีคนทำ และใช้เกลือสินเธาว์กันอยู่