ฮือฮา! คนอุ้มกบภูเขายักษ์เบตง จ.ยะลา ที่แท้ภาพเก่าจากอินโดนีเซีย

วันที่ 12 ม.ค. 2566 เวลา 15:29 น.

ฮือฮา! คนอุ้มกบภูเขายักษ์เบตง จ.ยะลา ที่แท้ภาพเก่าจากอินโดนีเซีย ปี 2563 วันนี้(12 ม.ค.2566) เมื่อเวลา 11.59 น. เพจ สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึงกรณีที่วานนี้(11 ม.ค.2566) มีเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง เผยแพร่รูปภาพชายอุ้มสัตว์ลักษณะคล้ายกบขนาดยักษ์ พร้อมระบุข้อความว่า จังหวัดยะลา จับกบเขา ได้ตัวเท่าคน ใหญ่สุดในประเทศไทย ตัวแรก ที่จังหวัดยะลา ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด กบยักษ์ถูกจับได้ครั้งนี้ เพจ สวท.ยะลา ระบุว่า เป็นภาพเก่ากบยักษ์ ที่พบในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ ปี 2563 กบยักษ์ไม่ใช่กบภูเขาเบตงยะลา โดยระบุรายละเอียดว่า จากกรณีที่มีการโพสต์ภาพจับกบยักษ์ขนาดใหญ่ที่ จ.ยะลา และแชร์กันมากมายในโลกโซเชียลนั้น ภาพดังกล่าวไม่เป็นความจริงเพราะเป็นภาพเก่าที่เคยเผยแพร่ มีการจับได้ในประเทศอินโดนีเซีย ไม่ใช่ในจังหวัดยะลา แต่อย่างใด โดยภาพดังกล่าว เป็น กบโกไลแอท (อังกฤษ: Goliath frog, Giant slippery frog) เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำพวกกบขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดว่าเป็นกบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่ยังมีการสืบเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน มีความยาวเต็มที่ประมาณ 33.2 เซนติเมตร (12.6 นิ้ว) และมีน้ำหนัก 3.25 กิโลกรัม (7.17 ปอนด์) จัดได้ว่ามีน้ำหนักพอ ๆ กับเด็กทารกแรกคลอด เมื่อยังมีสภาพเป็นลูกอ๊อดก็เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นกบที่กระจายพันธุ์อยู่ตามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวที่มีสภาพพื้นเป็นทราย ในป่าดิบทึบหรือภูเขาในแถบแอฟริกากลาง กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งแมลงชนิดต่าง ๆ รวมถึงกบด้วยกัน, ปู หรือแม้กระทั่งเต่าหรืองูขนาดเล็ก และมีรายงานว่าพบค้างคาวในท้องด้วย มีอายุเต็มที่ 15 ปีในธรรมชาติ และ 21 ปีในที่เลี้ยง ส่วนกบภูเขาเบตง หรือ กบทูด เป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในที่พบได้ในประเทศไทย มีความยาวจากปลายปากถึงก้น ประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง อยู่ตามลำห้วยป่าดิบเฉพาะแห่ง โดยพบภาคตะวันตกของไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย เช่นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา, อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังพบได้ในกัมพูชา, ลาว และเวียดนาม มีลักษณะ ปลายปากเรียวแหลมจนเห็นได้ชัด ส่วนลำตัวอ้วนใหญ่ ผิวเป็นตุ่มเล็ก ๆ ไม่สะดุดตาดูคล้ายเป็นผิวหนังเรียบ เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดง ริมฝีปากดำ มีขีดดำจากท้ายตาลากมาจนถึงเหนือวงแก้วหู บริเวณสีข้างอาจมีลาย หรือจุดสีดำ น้ำตาลเข้ม นอกจากนี้ ยังพบว่าสามารถปรับเปลี่ยนสีผิวไปตามที่อยู่อาศัย เช่น ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดงเมื่ออาศัยอยู่ตามพงหญ้าแห้ง หรือมีสีดำเมื่อหลบซ่อนอยู่ในโพรงไม้ กบทูดเป็นสัตว์ที่มีนิสัยหากินตอนกลางคืน ชอบสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เวลากลางวันมักหลบซ่อนอยู่ตามที่มืดทึบ