นวัตกรรมสร้างสุข : ไขปริศนางาหักใน ศึกช้างชนช้าง บนเขาใหญ่ด้วยซินโครตรอน
วันที่ 11 ม.ค. 2566 เวลา 12:55 น.
7 สีช่วยชาวบ้าน - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตรวจวิเคราะห์ชิ้นส่วนงากหักจากเหตุการณ์ช้างชนช้างบนเขาใหญ่ เพื่อศึกษาสัดส่วนธาตุองค์ประกอบ ต่อยอดไปสู่การดูแลทุพโภชนาการให้แก่ช้างป่า ติดตามใน นวัตกรรมสร้างสุข ตัวอย่างงาจากเหตุการณ์ช้างป่าเขาใหญ่ "พลายทองคำ" ต่อสู้กับ "พลายงาทอง" จนงาหักทั้งกิ่ง กลายเป็นวัตถุชิ้นสำคัญที่ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมคณะ นำมามอบให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคแสงซินโครตรอน เพื่อหาสัดส่วนธาตุองค์ประกอบ และหาสัดส่วนหมู่ฟังก์ชันทางเคมีของสารอินทรีย์ เพื่อบ่งชี้ความแตกต่างขององค์ประกอบกลุ่มสารชีวเคมีภายในงาช้าง พร้อมนำตัวอย่างดินโป่งจากโป่งเทียมบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 7 จุด มาตรวจวิเคราะห์หาแร่ธาตุต่าง ๆ หลังจากพบพฤติกรรมของช้างป่าที่ออกมากินขยะหรืออาหารในครัวของบ้านชาวบ้าน จึงตั้งข้อสังเกตว่า ช้างป่าอาจจะขาดแคลนแร่ธาตุบางชนิด การนำดินโป่งมาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน จึงจะช่วยตอบคำถามได้ว่า แร่ธาตุในโป่งเทียมที่ทำขึ้นนั้น เหมาะสมกับสัตว์ป่าหรือไม่ แหล่งดินโป่งนอกจากเป็นแหล่งอาหารเสริมให้กับช้าง กระทิง วัวแดงแล้ว ยังเป็นห้องพยาบาลให้สัตว์ป่าหลายชนิดด้วย เพราะเกลือแร่หลายชนิดก็คือยารักษาโรค ที่ใช้ในการควบคุม ลดการติดเชื้อ ไล่แมลง ดังนั้นข้อมูลจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จะนำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่า นำไปสู่การแก้ไขปัญหาช้างป่า และการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมทั้งการดูแลเรื่องทุพโภชนการให้กับช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม