สวนป่าเบญจกิติ ไม่ใช่สนามหญ้า สนามกอล์ฟ หน้าแล้งหญ้าแห้งตายเป็นเรื่องปกติ
วันที่ 10 ม.ค. 2566 เวลา 19:59 น.
แจงดรามา สวนป่าเบญจกิติ “ชัชชาติ” สอบถามผู้รู้ สวนป่าฯ มีสภาพแวดล้อมหลากหลาย หน้าแล้งหญ้าแห้งตายบ้างเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ใช่สนามหญ้า-สนามกอล์ฟ ส่วนน้ำในสวนมาจากคลองไผ่สิงโต คุณภาพน้ำยังมีปัญหา กำชับให้แก้ไข แจงดรามาสวนป่าเบญจกิติ วันนี้ (10 ม.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงปัญหาหญ้าและคุณภาพน้ำในสวนเบญจกิติ โดยระบุว่า สำหรับกรณีข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาหญ้าและคุณภาพน้ำในสวนเบญจกิตินั้น ได้สอบถามผู้รู้ทำให้ทราบว่าสวนป่าเบญจกิติมีธรรมชาติ สภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ไม่ใช่สนามหญ้า หรือสนามกอล์ฟที่จะต้องเขียวตลอด การที่เนินมีหญ้าแห้งหรือหญ้าตายบ้างก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแจ้งว่าเป็นเรื่องธรรมดา คล้ายการไปเดินป่าหรือเดินเขา ช่วงหน้าแล้วจะมีหญ้าแห้งบ้าง เมื่อเข้าหน้าฝน หญ้าก็จะเป็นสีเขียว ผู้ว่าฯชัชชาติ ระบุอีกว่าในส่วนของเรื่องน้ำ เนื่องจากน้ำในสวนมาจากคลองไผ่สิงโต ซึ่งคุณภาพน้ำในคลองไผ่สิงโตยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ได้กำชับให้ดูแลคุณภาพน้ำในคลองแล้ว ทั้งนี้ต้องขอบคุณประชาชนที่ได้ติชมกันมา ซึ่งกทม.จะเร่งรัดแก้ไขต่อไป สำหรับค่าฝุ่นช่วงนี้อากาศปิด อาจมีฝุ่นบ้าง การใส่หน้ากากอนามัยสามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ถ้าใส่ 2 ชั้นก็จะป้องกันได้ดีขึ้น คาดว่าน่าจะดีขึ้นภายใน 1-2 วันนี้ อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง นายชัชชาติ กล่าวถึงการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ กทม. ว่า ปี 65 ดำเนินการขุดลอกคลอง 99 คลอง ปี 66 ดำเนินการเพิ่ม 162 คลอง ทั้งนี้ฝากถึงประชาชนผู้ที่มีพื้นที่บึงธรรมชาติ และจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างเท่ากับพื้นที่ปกติ หากไม่ต้องการเสียภาษีก็ขอให้ยกให้กทม.ทำเป็นแก้มลิงเพื่อประโยชน์ในการดักน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วม และลดภาษีที่ต้องเสียด้วย นอกจากนี้กทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกันน้ำริมแม่น้ำและคลองสายหลัก พบจุดที่มีปัญหา 119 จุด ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขแล้ว 24 จุด อยู่ระหว่างของบปี 66 (เพิ่มเติม) จำนวน 22 จุด ของบปี 66 (งบกลาง) จำนวน 2 จุด ของบปี 67 จำนวน 9 จุด สำรวจออกแบบเพิ่มเติม 49 จุด ในส่วนของระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการที่ชุมชนคลองแสนแสนเพื่อให้น้ำที่บำบัดโดยชุมชนสามารถปล่อยลงคลองได้ โดยไม่สร้างมลภาวะ และดำเนินการในตลาดกทม. 12 แห่ง ปัจจุบันได้ออกแบบแล้ว 7 แห่ง ดำเนินการในแฟลต กทม. 6 แห่ง และติดตั้งบ่อดักไขมันในชุมชนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง จำนวน 3,000 ลูก จากทั้งหมด 17,000 ลูก