กองทัพเรือทำพิธีปล่อย "เรือหลวงช้าง" ลงน้ำ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ เตรียมเข้าประจำการที่สัตหีบ
วันที่ 5 ม.ค. 2566 เวลา 10:35 น.
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือยกพลขึ้นบก (LPD : Landing Platform Dock) เรือหลวงช้าง (ลำที่ 3) ลำใหม่ลงน้ำ โดยมี นางอรัญญา ศิริสวัสดิ์ ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 อู่ต่อเรือ บริษัท หู้ดง - จงหัวชิปบิลดิง เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกองทัพเรือ ได้จัดหาเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ เข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเรือยกพลขึ้นบกลำเก่า (เรือหลวงช้างลำที่ 2) ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 - 2579 ซึ่งกำหนดความต้องการ เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ไว้ จำนวน 4 ลำ และใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรืออากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติ โดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ 3 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงและเป็นเรือบัญชาการ และการสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือและกู้ภัยเรือดำน้ำ และการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ปัจจุบันกองทัพเรือ มีจำนวนเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ไม่เพียงพอตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติม เพื่อให้มีขีดความสามารถสูงสุด ตามระเบียบของกองทัพเรือ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบตามประเภทของเรือ ในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่างๆ ในประเทศไทย โดยเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “เรือหลวงช้าง” (เกาะช้าง จังหวัดตราด) มีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ ยาว 213 เมตร กว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 17.4 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 20,003 ตัน ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำสูงสุด 25 นอต มีระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 10,000 ไมล์ทะเล ตัวเรือมีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ 9 (Sea State 9) และสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกได้ 600 นาย อนึ่ง ตามระเบียบของกองทัพเรือ กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบตามประเภทของเรือต่างๆ ไว้ดังนี้ - เรือพิฆาต ตั้งตามชื่อตัวบุคคล บรรดาศักดิ์ หรือสกุล ของผู้ประกอบคุณประโยชน์ไว้แก่ชาติ เช่น เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน - เรือฟริเกต ตั้งตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญ เช่น เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง - เรือคอร์เวต ตั้งตามชื่อเมืองหลวง และเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ - เรือเร็วโจมตี (อาวุธนำวิถี) ตั้งตามชื่อเรือรบในทะเลสมัยโบราณ ที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้นๆ เช่น เรือหลวงอุดมเดช เรือหลวงปราบปรปักษ์ - เรือเร็วโจมตี (ปืน,ตอร์ปิโด) ตั้งตามชื่อจังหวัดชายทะเล เช่น เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงนราธิวาส - เรือดำน้ำ ตั้งตามชื่อผู้อิทธิฤทธิ์ในวรรณคดีในด้านการดำน้ำ เช่น เรือหลวงมัจฉานุ - เรือทุ่นระเบิด ตั้งตามชื่อสมรภูมิรบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น เรือหลวงบางระจัน เรือหลวงลาดหญ้า - เรือยกพลขึ้นบก เรือลากจูง เรือส่งกำลังบำรุง เรือน้ำมัน ตั้งตามชื่อเกาะ เช่น เรือหลวงอ่างทอง (เรือยกพลขึ้นบก) เรือหลวงมาตรา (เรือน้ำมัน) เรือหลวงสิมิลัน (เรือส่งกำลังบำรุง) - เรือตรวจการณ์ (ปืน) ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล เช่น เรือหลวงหัวหิน เรือหลวงศรีราชา - เรือตรวจการณ์ (ปราบเรือดำน้ำ) ตั้งชื่อตามเรือรบในลำน้ำสมัยโบราณ ที่มีความเหมาะสมกับหน้าที่ของเรือนั้นๆ เช่น เรือหลวงทยานชล เรือหลวงคำรณสินธุ์ - เรือสำรวจ ตั้งชื่อตามดาวที่สำคัญ เช่น เรือหลวงจันทร เรือหลวงศุกร์ - เรือหน้าที่พิเศษ ตั้งชื่อด้วยถ้อยคำที่มีความหมาย และเหมาะกับหน้าที่ของเรือนั้น เช่น เรือหลวงจักรีนฤเบศร - เรือขนาดเล็ก (เล็กกว่า 200 ตัน) ตั้งชื่อด้วยอักษรย่อตามชนิด และหน้าที่ของเรือนั้นมีหมายเลขต่อท้าย เช่น เรือ ต.991