สุสานหอยไม่มีหอย! กรมทรัพยากรธรณีแจงคลิปไวรัล สุสานหอย 75 ล้านปี
วันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 16:06 น.
สุสานหอยไม่มีหอย กรมทรัพยากรธรณี แจงคลิปไวรัล สุสานหอย 75 ล้านปี เป็นซากดึกดำบรรพ์ เรียงตัวอัดแน่นคล้ายแผ่นซีเมนต์ แต่ถูกกระแสน้ำกัดเซาะทำให้ร่องรอยซากหอยลบเลือน แนะ นทท.เดินชมตามโขดหินใกล้ๆ แนวชายฝั่งจะเห็นชัดเจน สุสานหอยไม่มีหอย หนุ่มรีวิวหยามสุสานหอย 75 ล้านปี วันนี้ (15 ธ.ค.65) เพจกรมทรัพยากรธรณีชี้แจงกระแสคลิปวิดีโอ ‘สุสานหอย ไม่มีหอย’ ที่ได้รับความสนใจจากชาวเน็ต และมีการวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นไวรัลบนโซเชียลนั้น กรมทรัพยากรธรณีจึงออกมาให้ความรู้ถึงความเป็นมาและลักษณะพิเศษทางด้านธรณีวิทยาที่ทำให้สุสานหอยแหลมโพธิ์ จังหวัดกระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก สุสานหอยแหลมโพธิ์ แหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันในนามของ “สุสานหอย 75 ล้านปี” แห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บริเวณชายฝั่งทะเลบ้านแหลมโพธิ์ ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ สถานที่แห่งนี้ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2507 โดยนายภุมวาร โกมลารชุน พบซากดึกดำบรรพ์หอยน้ำจืดเป็นชั้นหนา ส่วนใหญ่เป็นหอยฝาเดียวจำพวกหอยขม (วงศ์ Viviparidae) หอยคัน (วงศ์ Thiaridae) และหอยมวนพลู (วงศ์ Turritellidae) เรียงตัวอัดกันอย่างหนาแน่นคล้ายแผ่นซีเมนต์ผสมกรวดแผ่ออกไปเป็นลานกว้างและยื่นออกไปตามแนวชายฝั่งทะเลระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร หอยที่พบบริเวณนี้เป็นหอยน้ำจืดที่ยังคงพบในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้แอ่งน้ำกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งฉับพลัน หอยต่างๆ ซึ่งหนีออกไปไม่ได้จึงตายอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล เนื่องจากการเพิ่มระดับของน้ำทะเลหลังจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง จากการสำรวจและศึกษาวิจัยซากเรณูและสปอร์ของพืชโบราณที่พบในสุสานหอย ทำให้สามารถกำหนดอายุของสุสานหอยแหลมโพธิ์ได้ว่าอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 40-20 ล้านปี แต่ชื่อเรียกเดิมซึ่งมีอายุ 75 ล้านปี ก็ยังคงถูกเรียกจนติดปากประชาชนในพื้นที่มาจนถึงปัจจุบัน สุสานหอยแหลมโพธิ์ ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.60 จำนวน 3 ประกาศ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริเวณลานหินที่ยื่นออกไปในทะเล โดนกระแสน้ำกัดเซาะเป็นเวลานาน ทำให้ร่องรอยซากหอยดังกล่าวโดนลบเลือนไปจนแทบไม่เห็นรูปร่าง กรมทรัพยากรธรณี ขอแนะนำนักท่องเที่ยว เดินบริเวณที่ไม่โดนน้ำกัดเซาะ ตามโขดหินใกล้ๆ แนวชายฝั่งจะเห็นชัดเจน