สนามข่าวเศรษฐกิจ : กุ้งไทยยังไม่พ้นวิกฤต หวั่นส่งออกกุ้งไทยลดฮวบ

วันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 07:23 น.

สนามข่าว 7 สี - สมาคมกุ้งไทย หวั่นไทยเสียตลาด หลังผลผลิตย่ำอยู่กับที่ ปี 2565 ทั้งประเทศได้เพียง 280,000 ตัน ขณะที่ชาวไร่อ้อยร้องสื่อ ขอความเป็นธรรม อย่าเลือกปฏิบัติตรวจพิกัดน้ำหนักบรรทุก สมาคมกุ้งไทย เผยผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2565 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยยังไม่พ้นวิกฤตปัญหาโรคระบาด และสภาพอากาศไม่อำนวย ทำให้ผลิตยังคงที่ ท่ามกลางหลายประเทศทั่วโลกต่างผลิตกุ้งสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น คาดว่าปริมาณกุ้งทั่วโลกจะอยู่ 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11% โดยประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง-อเมริกาใต้ ผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะเอกวาดอร์ ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม ผลิตกุ้งได้ลดลง อินเดีย เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ส่วนจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นหลังมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เผยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกกุ้ง ได้เพียง 122,208 ตัน มูลค่า 42,812 ล้านบาท ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พร้อมเรียกร้องทุกพรรคการเมืองที่อาสามาเป็นรัฐบาล กำหนดนโยบายแก้ปัญหากุ้งให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นไทยอาจสูญเสียตลาด ที่เคยสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ชาวไร่อ้อย ขอความชัดเจนตรวจน้ำหนักบรรทุก ขณะที่ตัวแทน ชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภู ทวงถามหามาตราฐาน การตรวจสอบพิกัดน้ำหนักบรรทุกว่า เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นความถูกต้อง หรือ ถูกใจ พร้อมตัดพ้อ เกษตรกรต่างก็รอคอยช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะมีช่วงเวลาทองเพียงไม่กี่เดือนที่จะทำให้เกิดรายได้ แต่ก็มีปัญหาระหว่างขนส่งอ้อยไปยังโรงงาน เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักรถ เลือกปฏิบัติในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย บางคันเรียกตรวจชั่ง บางคันปล่อยไม่ต้องตรวจ โดยเกษตรกรต้องการรับทราบแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งล่าสุดได้ยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ไปแล้ว เกษตรกรต่างรอคอยความชัดเจน คาดว่าจะได้คำตอบภายในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งรับมือข้อตกลง EU นายกรัฐมนตรี สั่งทุกหน่วยงานรับมือ มติ EU ห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ที่คาดว่าจะ กระทบน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ ยางพารา และ ปศุสัตว์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามรายละเอียด หลังจากที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้บรรลุข้อตกลงในกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า โดยข้อตกลงในกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ อาจกระทบต่อสินค้าจากประเทศไทย ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์ม, ปศุสัตว์, ถั่วเหลือง, กาแฟ, โกโก้, ไม้ และ ยางพารา ทั้งนี้ ข้อตกลงของอียูในเรื่องนี้ ยังเหลือขั้นตอนการอนุมัติเป็นกฎหมาย เพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะมีผลบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ และจะให้เวลาผู้ประกอบการทั่วยุโรปที่นำเข้าสินค้าหรือมีห่วงโซ่การผลิตอยู่ทั่วโลก ที่มีการเตรียมตัวไปก่อนหน้านี้ประมาณ 18-24 เดือน แล้วแต่ขนาดของธุรกิจ ทำให้ต้องเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามรายละเอียดของกฎหมาย ดูว่าครอบคลุมสินค้าใดบ้าง ตลอดจนประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อประเทศไทย รวมถึงต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการและเกษตรกร ให้เกิดความเข้าใจทั้งห่วงโซ่การผลิต และปรับตัวให้ทันกับกฎกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น และจากข้อมูลปี 2564 สหภาพยุโรป เป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 3.53 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 8.72 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ - อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่สิ้นสุด