สังเกตก่อนซื้อ อ.อ๊อด แนะวิธีตรวจสอบอาหารปนเปื้อน สารฟอร์มาลิน
วันที่ 5 ธ.ค. 2565 เวลา 19:47 น.
จากกรณีกรมปศุสัตว์ ปูพรมตรวจแหล่งผลิตเนื้อสัตว์ พบเครื่องในหมูและวัวแช่ในถังฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ จากแหล่งผลิตแปรรูปวัตถุดิบส่งขายร้านหมูกระทะ อ.บ่อวิน จังหวัดชลบุรี จึงตรวจยึดเนื้อหมู เนื้อวัว และเครื่องในกว่า 25,000 กิโลกรัมนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจส่งผลให้ผู้บริโภคหวาดกลัวในการกินอาหารนอกบ้าน หรือเลือกซื้อวัตถุดิบนำไปประกอบอาหารทานเอง จะสังเกตอย่างไรว่าวัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหารมีสารฟอร์มาลินหรือไม่ เรื่องนี้ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ ‘อ.อ๊อด’ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เตือนพิษของสารฟอร์มาลินต่อสุขภาพว่า พิษของสารฟอร์มาลิน เป็นพิษแบบเฉียบพลัน หากได้รับสูงเกิน 0.1 ppm จะทำให้ระคายเคืองต่อตา จมูก และทางเดินหายใจ แต่หากได้รับปริมาณเข้มข้นสูงเกิน 100 ppm อาจทำให้หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากความเข้มข้นสูงๆ สารฟอร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิก (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย สำหรับอาการเรื้อรังหากได้รับปริมาณน้อยแต่ระยะยาว จะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยอาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ดังนั้น วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานานแล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ ส่วนผักและผลไม้ถ้ามีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผลหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน เมื่อซื้ออาหารมาแล้วควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้