ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย WWF ประเทศไทย ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ผ่านโครงการ True Smart Early Warning System (TSEWS) ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยช้างป่าล่วงหน้า โดยเริ่มต้นจัดทำที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพัฒนาขยายผลสู่พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก (ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) พร้อมกับเตรียมปรับใช้กับกลุ่มป่าพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ เผยนำแนวคิด "Tech For Good" ที่ผสานความเข้าใจ ดาต้า และเทคโนโลยี สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
วิกฤตความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า หรือ Human-Elephant Conflict (HEC) เป็นปัญหาระดับโลกที่พบในประเทศที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สถิติชี้ให้เห็นว่าแต่ละปีมีช้างป่าเสียชีวิตในศรีลังกา 200 ตัว อินเดีย 100 ตัว และเคนยา 120 ตัว ขณะที่มีผู้เสียชีวิตในอินเดียประมาณ 400 คนต่อปี และในเคนยาราว 200 คนระหว่างปี 2553-2560
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานว่ามีช้างป่าประมาณ 4,013-4,422 ตัว อาศัยกระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่าทั่วประเทศ โดยในช่วง 3 ปีล่าสุด (2564-2566) พบช้างออกนอกพื้นที่กว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายมากกว่า 3,800 ครั้ง และที่น่าห่วงคือในช่วง 12 ปี (2555-2567) มีผู้เสียชีวิตถึง 227 ราย บาดเจ็บ 198 ราย จากการบุกรุกของช้างในเขตรอยต่อป่า สะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน บริษัทเอกชน และชุมชนในพื้นที่ โดยกรมอุทยานฯ ได้ร่วมมือกับทรู คอร์ปอเรชั่น และ WWF ประเทศไทย พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย ผสานกับกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและผลักดันช้างให้กลับสู่ป่าอย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงช่วยปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี”
ความสำเร็จของระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะ TSEWS จากทรู คอร์ปอเรชั่น ในช่วงราว 7 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นจากสถิติล่าสุดในปี 2566 ที่แม้จะพบเหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถึง 1,104 ครั้ง แต่เกิดความเสียหายต่อพืชผลเพียง 4 ครั้ง หรือคิดเป็น 0.36% เท่านั้น นับเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปี 2560 ก่อนการติดตั้งโซลูชัน TSEWS ที่มีความเสียหายสูงถึง 74.5%
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย เราไม่เพียงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย บนเครือข่าย 5G, 4G และบรอดแบนด์ความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน โดยโซลูชัน TSEWS คือตัวอย่างความสำเร็จของแนวคิด Tech for Good ผ่านสมการ Empathy-Insights-Technology ผสานความเข้าใจ ดาต้า และเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ระบบ TSEWS ทำงานโดยใช้กล้อง Camera Trap เชื่อมต่อเครือข่าย 5G, 4G เมื่อตรวจพบช้างบุกรุก จะส่งภาพและพิกัดแจ้งเตือนผ่านระบบ Cloud แบบเรียลไทม์ไปยังศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเจ้าหน้าที่จะวิเคระห์และส่งเจ้าหน้าที่พร้อมโดรนเข้าตรวจสอบและผลักดันช้างกลับป่า โดยปัจจุบันใช้เฝ้าระวังช้างป่ากว่า 400 ตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และสามารถนำโซลูชันไปเป็นต้นแบบแก้ปัญหาในพื้นที่กลุ่มป่าอื่นที่ประสบปัญหาเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็น open platform ที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นโซลูชันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนในด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย