ยูนิเซฟชี้เด็กเล็ก 1 ใน 10 ในประเทศไทยกำลังเผชิญความยากจนทางอาหารเด็กขั้นรุนแรง

View icon 171
วันที่ 6 มิ.ย. 2567
แชร์

รายงานฉบับใหม่ของยูนิเซฟเปิดเผยวันนี้ว่า เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในประเทศไทยจำนวน 1 ใน 10 คนกำลังเผชิญภาวะความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง นั่นคือ เด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารไม่เกิน 2 หมู่ต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและพัฒนาการโดยรวมในระยะยาว

รายงาน Child Food Poverty: Nutrition Deprivation in Early Childhood ถือเป็นรายงานแรกของยูนิเซฟที่ทำการวิเคราะห์ผลกระทบและสาเหตุการขาดแคลนอาหารของเด็กเล็กในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกและในทุกกลุ่มรายได้ โดยชี้ให้เห็นว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว ทั่วโลกมีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีราว 181 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 คน กำลังเผชิญความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำ การสู้รบ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนราคาอาหารและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดย เด็กที่เผชิญความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง หมายความว่า พวกเขารับประทานอาหารไม่เกิน 2 หมู่ต่อวัน  ทั้ง ๆ ที่เด็กจำเป็นต้องรับประทานอาหารอย่างน้อย 5 หมู่ต่อวัน

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เด็ก ๆ จำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน นั่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการอยู่รอด การเจริญเติบโตและการพัฒนาตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา การขาดโภชนาการที่ดีอาจส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กอย่างไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้”

รายงานระบุว่า ร้อยละ 65 ของเด็กที่เผชิญความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรงอาศัยอยู่ใน 20 ประเทศ  โดย 64 ล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้,  59 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และอีก 17 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก  โดยเด็กส่วนใหญ่ (4 ใน 5 คน) ได้รับประทานเพียงนมและอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือ ข้าวสาลี  หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่น้อยกว่าร้อยละ 10 ได้รับประทานผักและผลไม้ และน้อยกว่าร้อยละ 5 รับประทานอาหารที่มีสารอาหารสูง เช่น ไข่ ปลา สัตว์ปีก หรือ เนื้อ

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565  โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ก็ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่น่ากังวลด้านโภชนาการเด็กเช่นกัน โดยพบว่ามีเด็กในประเทศไทยเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก นอกจากนี้ ร้อยละ 13 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปียังมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น และร้อยละ 7 มีภาวะผอมแห้ง เนื่องจากการขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ภาวะเตี้ยแคระแกร็นและผอมแห้งมักพบมากในเด็กในครอบครัวยากจน, เด็กในครอบครัวที่ไม่พูดภาษาไทย และเด็กที่แม่มีการศึกษาน้อยหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเผชิญภาวะเตี้ยแคระเกร็นสูงสุด คืออยู่ที่ร้อยละ 20

ขณะเดียวกัน ภาวะอ้วนในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีของประเทศไทยก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 11 ในปี 2565 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและไขมันสูง

รายงานของยูนิเซฟระบุว่า ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดวิกฤตความยากจนทางอาหารของเด็กมีหลายประการ อาทิ ระบบอาหารที่ล้มเหลว ซึ่งทำให้เด็ก ๆ เข้าไม่ถึงอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย หรือการที่ครอบครัวไม่มีกำลังซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนขาดความรู้และทักษะในการส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้กับลูก ๆ

ทุกวันนี้ การตลาดเชิงรุกที่มุ่งเป้าไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองกำลังทำให้เด็ก ๆ ต่างบริโภคอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งมีสารอาหารต่ำ ราคาถูก และไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งได้กลายเป็นความปกติใหม่ในปัจจุบัน ผลการศึกษาของยูนิเซฟเมื่อเร็วๆ นี้  พบว่า อาหารสำเร็จรูปที่มุ่งทำการตลาดกับเด็กเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย มีปริมาณน้ำตาลและเกลือสูง อีกทั้งยังติดฉลากที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดว่าเหมาะสมสำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกำลังแทนที่อาหารที่มีประโยชน์ของเด็ก ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่กำลังเผชิญกับความยากจนทางอาหาร

เพื่อยุติความยากจนด้านอาหารเด็ก ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาล องค์กรเพื่อการพัฒนาและมนุษยธรรม ผู้บริจาค ภาคประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมมือดำเนินการอย่างเร่งด่วนดังนี้

ปฏิรูประบบอาหารเพื่อให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ความหลากหลาย และสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นตัวเลือกที่เข้าถึงได้ ราคาไม่แพง และเป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับครอบครัวและผู้ดูแลเด็ก

จัดให้มีบริการด้านโภชนาการโดยเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุข เพื่อป้องกันและรักษาเด็กที่ขาดสารอาหารตลอดจนให้ความรู้ผู้ปกครองในการส่งเสริมโภชนาการของเด็ก ๆ

พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมผ่านการให้เงินอุดหนุน อาหาร หรือบัตรเงินสด หรือวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถจัดหาอาหารที่มีประโยชน์ให้กับลูก ๆ ได้


666144013f9130.71217209.jpg

66614401eac791.57710521.jpg