วันอาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน วันอาสาฬบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา หรือพระธรรมเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ และเป็นวันที่บังเกิดมีพระสงฆ์ครบเป็นองค์พระรัตนตรัยครั้งแรกในโลก วันอาสฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า “วันพระธรรม” และ “วันพระสงฆ์”
ความสำคัญ
หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ก็ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้ง จึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภท(บัว 4 เหล่า) คือ
1. อุคฆฏิตัญญู ดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ
2. วิปัจจิตัญญู ดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ
3. เนยยะ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ
4. ปทปรมะ ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม
จากนั้นทรงมีพระกรุณาธิคุณ ระลึกอาฬารดาบสและอุททกดาบสว่า มีกิเลสเบาบางสามารถตรัสรู้ได้ทันที แต่ท่านทั้ง 2 ได้ตายแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ และได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 คือ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ ซึ่งพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดง คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งประกอบไปด้วยอริยสัจ 4 (แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส)
อริยสัจ 4 หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการได้แก่
1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ
3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
4.1 สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
4.2 สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
4.3 สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
4.4 สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
4.5 สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
4.6 สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
4.7 สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
4.8 สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
การแสดงธรรมในครั้งนั้นทำให้พระโกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก และได้กราบฑูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต โดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็น"ปฐมสาวก" ของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น ในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มี พระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า "ปฐมเทศนา" หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
สรุปได้ว่าวันอาสาฬหบูชามีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 4 ประการคือ
1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
4. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา
เนื่องในวันอาสาฬหบูชาพุทธศาสนิกชนทั่วไปต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และบำเพ็ญบุญกุศลอื่นๆ เช่น เข้าวัดรับศีล ฟังธรรมเทศนา งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบโบสถ์ ฯลฯ เมื่อเสร็จการเวียนเทียนอาจให้มีการเจริญจิตตภาวนา สนทนาธรรม แต่กิจกรรมทั้งหมดนี้ควรให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 24.00 น. ของวันอาสาฬหบูชา เพื่อพักผ่อนเตรียมตัวก่อนเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ในวันรุ่งขึ้นต่อไป